รสหวาน ดูจะเป็นรสชาติที่ผู้คนติดใจกันมากที่สุด โดยเฉพาะเด็กเล็กด้วยแล้วละก็ อดไม่ได้เลยที่จะต้องติดใจรสชาติหวานๆกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นจากลูกอม ขนม หรืออาหารอื่นๆ ก็ล้วนแต่ต้องมีส่วนผสมของสารให้ความหวานเพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อยกันทั้งนั้น ความหวานจึงเป็นสิ่งที่ร่างกายรับเข้ามาตลอดในทุกวัน หากไม่สามารถควบคุมปริมาณที่เหมาะสมได้ ความหวานตัวนี้ก็จะย้อนกลับมาทำให้ชีวิตของเราไม่หวานอีกต่อไป
ไม่ใช่แค่เพียงรสหวานเท่านั้น ที่รับประทานมากไปจะไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดก็ตาม การรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่ แต่ทำไมคนถึงต้องโจมตีไปที่ “ความหวาน” นี้ด้วย หรือเป็นเพราะความหวานที่มากเกินไปตัวนี้ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากที่สุด? การรับรู้และเข้าใจสาเหตุการเกิดโรค จะทำให้สามารถไขข้อข้องใจ และตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน

ภาพจาก : http://www.maizeproducts.com/?portfolio=high-maltose-corn-syrup-2
ถ้าจะพูดถึงความหวานหรือน้ำตาลกันแล้ว สิ่งแรกที่ต้องรู้จักกันก่อน ก็คือ ‘ชนิดของน้ำตาล’ ในโลกนี้สามารถแบ่งน้ำตาลออกตามขนาดของโมเลกุล ได้ดังนี้ค่ะ
ประเภทแรก คือ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เช่น กลูโคส ฟรุกโตส กาแลกโตส เป็นต้น สามารถพบได้มากในอาหารจำพวกน้ำผึ้งหรือผลไม้รสหวาน น้ำตาลประเภทนี้ เมื่อเราบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้เลยทันทีโดยไม่ต้องผ่านอาการย่อย ใครที่กำลังจะเป็นลม รับประทานน้ำตาลประเภทนี้ จะช่วยให้สามารถดึงเอาไปใช้ได้ทันที และส่งผลให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วใน แต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวานแล้ว การรับประทานน้ำตาลชนิดนี้บ่อยๆ ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายมากๆค่ะ เพราะน้ำตาลที่รับเข้าไปจะไปมีผลโดยตรงกับน้ำตาลในเลือดทันที ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดอันตรายได้หากได้รับในปริมาณมาก ต่อเนื่อง และยาวนาน
ประเภทที่สอง คือ น้ำตาลโมเลกุลคู่ เช่น ซูโครส หรือที่เรารู้จักกันในชื่อน้ำตาลทรายนั่นละค่ะ น้ำตาลประเภทจะมีขนาดโมเลกุลที่ใหญ่กว่าแบบแรก เนื่องจากจะเชื่อมกันระหว่างน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 ตัว ดังนั้น เวลาที่ร่างกายบริโภคเข้าไป ก็จะต้องผ่านการย่อยที่กระเพาะและลำไส้ก่อน จึงจะนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ระยะเวลาในการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดจึงใช้เวลามากกว่า แต่ก็มีความสามารถในการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่แพ้น้ำตาลแบบแรกเลย
ประเภทสุดท้าย คือน้ำตาลโมเลกุลใหญ่ จะเป็นการต่อเชื่อมระหว่างน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหลายๆตัว โมเลกุลของน้ำตาลชนิดนี้จะซับซ้อนมากกว่า เมื่อร่างกายบริโภคเข้าไปจะต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยที่นานมากกว่า ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากจะไม่ทำให้เลือดมีปริมาณน้ำตาลสูงเลยในทีเดียว แต่น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ที่เราบริโภคเข้าไปจะค่อยๆถูกย่อยจนได้เป็นโมเลกุลที่เล็กลง และจึงค่อยดูดซึมเข้าสู่เลือดอย่างช้าๆตามลำดับ บางครั้ง อาจมีบางส่วนที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ซึ่งเมื่อร่างกายย่อยไม่ได้กากอาหารเหล่านี้จะเข้าไปรวมอยู่กับก้อนอุจจาระ ส่งผลที่ดีต่อระบบขับถ่ายในร่างกายมนุษย์ ตัวอย่างน้ำตาลประเภทนี้ เช่น เดกซ์ทริน (dextrin) เส้นใยพืช (cellulose) เป็นต้น

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและโมเลกุลคู่ จัดเป็นสารให้ความหวานที่ถูกนำมาใช้ในการปรุงแต่งหรือให้รสหวานมากที่สุด เนื่องมาจาก ให้รสหวานที่สูง ให้พลังงานแทบจะทันที ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวมีแรง และทำให้รู้สึกสดชื่น แต่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลที่รวดเร็วนี้ ก็ย่อมส่งผลต่อการลดลงของระดับน้ำตาลที่เร็วมากเท่านั้น เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดจะถูกควบคุมให้อยู่ในภาวะสมดุลโดยฮอร์โมนจากตับอ่อนที่ชื่อ “อินซูลิน”
ดังนั้น การที่เราเลือกที่จะรับประทานหวาน อาจจะทำให้เกิดผลกระทบด่านแรกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในช่องปาก ทำให้ฟันผุ หรือฟันสึกกร่อนก่อนวัยอันควรได้ ส่วนผลกระทบด่านต่อไปก็คือ ผลต่อการทำงานของอินซูลินที่บกพร่องไป เพราะ เมื่อยิ่งกินมาก อินซูลินก็จะยิ่งทำงานหนัก จนถึงจุดๆหนึ่งอินซูลินก็จะเสื่อมประสิทธิภาพลง และไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเท่าเดิมอีก เมื่อถึงวันนั้น ก็จะเข้าสู่ภาวะการเป็นเบาหวาน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย ‘ยา’ เพื่อควบคุมระดับอินซูลินแทน
การที่ร่างกายได้รับกลูโคสเข้าไปมากเกินกว่าที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ พลังงานส่วนเกินนี้ก็จะถูกเก็บสะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อในรูปของไกลโคเจน เพื่อสำรองพลังงานเอาไว้ใช้ในยามขาดแคลน นอกจากนี้ ร่างกายก็จะเปลี่ยนน้ำตาลที่ล้นให้กลายเป็นไขมันอีกด้วย ตัวไขมันนี่เองที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น อ้วนขึ้น และก่อให้เกิดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆมากมายตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคข้อเสื่อม โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
จะดีไม่น้อยถ้าหากเราได้ทำความรู้จัก และรู้ถึงที่มาที่ไปของความหวานที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ ว่ามีประโยชน์หรือมีข้อเสียที่ให้โทษต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เลือกได้ถูกว่าควรจะแบ่งสันปันส่วนการบริโภคอาหารในแต่ละมื้อให้มากหรือน้อยเพียงใด อะไรที่ร่างกายต้องการมาก หรืออะไรที่ร่างกายควรหลีกเลี่ยง จึงจะทำให้เกิดภาวะการบริโภคที่พอดี และมีความสมดุลมากที่สุดนั่นเอง