ทำไมต้องระวังแผลกดทับ
หากพูดถึงคำว่า ‘แผลกดทับ’ เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไกลตัว และคงจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นกับคนปกติธรรมดา จึงไม่ได้สนใจหรือไม่ได้ใส่ใจอะไร แต่เชื่อหรือไม่ว่า…คำว่าแผลกดทับถือเป็นหนึ่งในอันตรายของผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถจะเคลื่อนไหวร่างกายด้วยตัวเองได้ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่ป่วยหนัก และเป็นสิ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องรู้เพื่อที่หากมีคนใกล้ตัวของเราล้มป่วย จะได้ป้องกันและไม่ทำให้เกิดเป็นแผลกดทับได้
สำหรับคนที่เป็นผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตประจำวันโดยส่วนใหญ่อยู่บนเตียงนอน อาจจะทำให้เกิดปัญหาของแผลกดทับได้บ่อยๆ ซึ่งแผลกดทับนี้มีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีหลากหลายวิธีที่จะสามารถช่วยป้องกันอาการแผลกดทับที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หากคุณรู้วิธีที่ถูกต้องและเริ่มดูแลตั้งแต่วันนี้ คำว่าแผลกดทับก็คงไม่เกิดขึ้นและไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน

แผลกดทับ เป็นแผลที่เกิดขึ้นจากการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เหตุผลก็เพราะว่าเป็นแผลที่ถูกกดทับมานานตามชื่อ ส่งผลให้เนื้อบริเวณนั้นตายแล้วเป็นแผลขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดความเจ็บปวดร่วมด้วย
บริเวณที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลกดทับได้มากที่สุด ก็คือ บริเวณผิวหนังที่มีไขมันปกคลุมผิวหนังน้อย ทำให้ถูกแรงกดเนื่องจากแรงโน้มถ่วงโดยตรง เช่น บริเวณส้นเท้า ข้อเท้า สะโพก หรือกระดูกก้นกบ เป็นต้น สิ่งที่ต้องรู้ก็คือ ในความเป็นจริงแล้วแผลกดทับสามารถที่จะรักษาให้หายได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีความซับซ้อนในการรักษา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับแผลที่เป็น รวมไปถึงต้องมีการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านของผิวหนัง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาท ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูก และนักกายภาพบำบัด
สำหรับอาการของผู้ป่วยที่มีอาการแผลกดทับจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ โดยแต่ระยะก็จะใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ไม่เท่ากัน วิธีการรักษาเบื้องต้นของผู้ป่วยที่เป็นโรคแผลกดทับก็มีอยู่หลากหลายวิธี เช่น
1 การพลิกตัว การที่ให้ผู้ป่วยนอนพลิกตัวทุกๆ 2 ชั่วโมงหรือหากเป็นผู้ป่วยที่นั่งรถเข็นก็ควรจะมีการขยับร่างกายทุกๆ 15 นาที จะช่วยทำให้แรงกดทับน้อยลง และป้องกันการเกิดแผลกดทับได้
2 การดูแลแผลให้สะอาด โดยมีการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบอ่อนและเช็ดให้แห้ง รวมถึงการใช้น้ำเกลือในการล้างแผลทุกครั้ง และมีการพันแผลที่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้แผลที่เป็นอยู่หายดีมากขึ้นได้
3 การตัดเนื้อตายทิ้ง ในกรณีที่เกิดเป็นเนื้อตายขึ้นมา ถ้าจะต้องมีการตัดเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายนั้นทิ้งไป จะต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะรวมไปถึงวิธีการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แผลหายได้รวดเร็วมากขึ้น
4 การรับประทานอาหารเสริม อาหารเสริมบางประเภทเป็นสิ่งที่ควรที่จะรับประทานเพื่อทำให้แผลหายเร็วมากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ด้วย อาหารเสริมต่างๆ เช่น สังกะสี โปรตีน วิตามินบางประเภท เป็นต้น
5 การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่รักษาแผลให้หายไม่ได้ ก็อาจจำเป็นจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำเอาส่วนของเนื้อเยื่ออื่นๆมาปิดแผลแทน

จะสังเกตเห็นว่าหากเมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยเกิดอาการแผลกดทับขึ้นมาแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในการดูแลมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น หากไม่ต้องการให้ผู้ป่วยเกิดแผลกดทับ ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การดูแลอย่างถูกวิธี เพราะหากคุณไม่ได้มีการรักษาแผลกดทับที่ผู้ป่วยมีอยู่อย่างถูกวิธี และปล่อยให้มันลุกลามจนรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆอีกมากมาย และแน่นอนว่าจะเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตเลย
วิธีการที่ดีที่สุดจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับ เพื่อจะได้ไม่ต้องดิ้นรนหาวิธีการในการแก้ไขให้ยุ่งยาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็มีหลากหลายวิธีที่จะช่วยในการป้องกันสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ โดยหลักๆก็จะเป็นการเน้นการใช้อุปกรณ์ที่มีความสามารถที่จะช่วยในการป้องกันหรือรักษาอาการแผลกดทับได้ในระยะยาว ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้จะช่วยทั้งการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วย รวมไปถึงช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ ยกตัวอย่างอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ที่นอนโฟม ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการกระจายน้ำหนักของผู้ป่วยบนเตียงนอน ช่วยลดแรงเสียดสี และช่วยลดแรงเฉือน ที่เป็นสาเหตุของการทำให้เกิดแผลกดทับได้ เป็นต้น
ถือว่าอาการแผลกดทับนี้เป็นภัยร้ายแรงที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากจะพบเจอ แต่หากคุณมีการดูแลผู้ป่วยอย่างดี เลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม มีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามที่ควรจะเป็นในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดอาการแผลกดทับได้ ซึ่งจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอและหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นด้วย ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและโอกาสของการเกิดอาการที่รุนแรงมากไปนี้ได้