วิธีการยับยั้งใจไม่ให้ชอปปิ้ง
เมื่อรูปแบบในการเลือกซื้อของของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจการค้าขายทางออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อการเลือกซื้อสิ่งของมากขึ้น คุณไม่จำเป็นจะต้องเดินออกไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าอีกต่อไป เพียงแค่เปิดโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนหรือแทปเลตเชื่อมต่อกับอินเตอร์เนตออนไลน์ ก็สามารถที่จะเลือกซื้อสิ่งของได้อย่างหลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคากับผู้ค้าหลายๆเจ้าได้ในเวลาเดียวกัน แถมยังไม่จำเป็นจะต้องหิ้วของกลับมาให้หนัก เพราะสามารถเลือกให้มีบริการส่งถึงบ้านได้อย่างสะดวกสบาย ทำให้การชอปปิ้งออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตใหม่ และลบเลือนการชอปปิ้งแบบเก่าไปได้อย่างง่ายดาย
การ shopping online หรือ การซื้อของออนไลน์ กลายเป็นที่แพร่หลายและเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคุณมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะไถจอในสมาร์ทโฟน หรือนั่งดูทีวีก็ไม่อาจรอดพ้นโฆษณาที่จ้องจะขายสินค้าออนไลน์ให้คุณได้ทุกเมื่อ จนอาจจะทำให้คุณยับยั้งชั่งใจไม่อยู่ และกลายเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองโดยที่คุณไม่ทันตั้งตัว เพราะการซื้อของออนไลน์สามารถเลือกซื้อของได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นกว่าการซื้อของแบบเดิม
ด้วยเหตุนี้เองเราจึงอยากจะมีข้อแนะนำเล็กๆน้อยๆ ที่จะช่วยให้คุณสามารถที่จะยับยั้งชั่งใจในการเลือกซื้อสินค้าจากระบบออนไลน์เหล่านี้ให้ได้ ลองมาดูดีกว่าว่าจะมีเทคนิควิธีการใดบ้างที่จะช่วยให้คุณหยุดความอยากของตัวเองได้ และช่วยชะลอการรั่วไหลของเงินในกระเป๋าสตางค์ของคุณได้

1 อย่ารีบร้อนตอนเห็นป้ายลดราคา
ในทุกๆเดือน จะมีวันพิเศษที่บริษัทขายสินค้าออนไลน์จะทำโปรโมชั่นเพื่อกวักมือให้คุณเข้าไปกดซื้อ ไม่ว่าจะเป็น 9 เดือน 9 หรือ 11 เดือน 11 ซึ่งล้วนแต่มีโปรโมชั่นลดราคาที่แสนดึงดูดใจลูกค้าทุกๆคน
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งรีบร้อนซื้อของเพียงแค่เห็นว่าราคาถูกเพียงอย่างเดียว ให้ลองถามตัวเองก่อนว่าสิ่งของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงหรือไม่ หรือแค่ซื้อเผื่อไว้เนื่องจากเห็นว่าราคาถูก ถ้าคุณยังไม่สามารถเห็นประโยชน์จากการซื้อสิ่งของชิ้นนั้นในปัจจุบันได้ ก็แนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบซื้อมันมา เพราะโปรโมชั่นการลดราคามักจะจัดขึ้นได้เรื่อยๆอยู่แล้วในทุกๆเดือน หากคุณจำเป็นจะต้องใช้เมื่อไหร่ ค่อยซื้อในอนาคตก็คงยังไม่สายจนเกินไป
2 ถามตัวเองว่าอยากได้จริงหรือไม่
ก่อนที่คุณจะเลือกซื้ออะไรสักอย่าง ต้องถามตัวเองจริงๆว่าเป็นสิ่งของที่คุณต้องการจริงๆ หรือคุณซื้อตามกระแสเพียงเท่านั้น อย่าซื้อของตามคนอื่นเพราะเห็นว่ากำลังอินเทรนด์ จนทำให้ต้องซื้อให้เหมือนกับที่คนอื่นมี สิ่งของบางอย่างอาจจะเป็นที่นิยมเพียงแค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน มันอาจจะกลายเป็นขยะที่ไม่มีใครต้องการ ดังนั้น ต้องถามตัวเองจริงๆว่าต้องการมันหรือไม่ หากไม่ได้เป็นสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆก็ควรชะลอการซื้อไปก่อน เพื่อที่จะช่วยควบคุมภาระค่าใช้จ่ายต่างๆที่ไม่จำเป็นลงได้

3 พิจารณาหนี้สินคงค้าง
การซื้อสิ่งของในปัจจุบันนี้สามารถยืมเงินจากอนาคตมาใช้ในการซื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบัตรเครดิตหรือการผ่อนจ่ายรายเดือน ซึ่งหากเราซื้อของหลายๆอย่างในเวลาเดียวกันโดยการใช้เครดิตเพื่อจ่ายเงินในอนาคต ก็ต้องคำนึงว่าในอนาคตนั้นจะสามารถที่จะมีเงินมาจ่ายค่าสินค้าต่างๆเหล่านี้ได้หรือไม่ เงินที่มีอยู่จะหมุนทันกับการใช้งานหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น การพิจารณาในสิ่งนี้จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ หากเป็นไปได้ก็ควรทยอยจ่ายของชิ้นเก่าให้ครบก่อน จึงจะให้รางวัลตัวเองด้วยการผ่อนจ่ายของชิ้นใหม่ ก็จะไม่เป็นภาระการใช้จ่ายจนกระเป๋าสตางค์ฉีกมากจนเกินไป
4 การกำหนดลิมิตของตัวเอง
ในบางครั้งเราอาจจะมีความสุขกับการเลือกซื้อของจนไม่สามารถหยุดยั้งตัวเองได้ การตั้งเป้าหมายหรือลิมิตในการช้อปปิ้ง เช่น กำหนดค่าใช้จ่ายในการช้อปปิ้งในแต่ละเดือน เป็นต้น จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถควบคุมงบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของต่างๆได้ดี หากเมื่อใดที่ใช้จ่ายจนเกินวงเงินที่วางแผนเอาไว้ อาจจะชะลอการซื้อไปก่อน เพื่อให้คุณสามารถที่จะควบคุมรายจ่ายจนไม่บานปลายมากเกินไปได้ หรือให้สมดุลกับรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน
ยุคสมัยนี้การซื้อของออนไลน์เป็นสิ่งที่ง่ายดายมากๆ สามารถจ่ายเงินได้ทันทีแบบที่ไม่ต้องเสียเวลารอคอย การผูกการใช้จ่ายกับบัตรเครดิตก็สามารถทำได้เพียงไม่กี่สัมผัส หากเผลอกดเพลินอาจจะต้องใช้เวลาในการขอเงินคืนที่ยาวนานและใช้เวลาหลายขั้นตอน ดังนั้น การยับยั้งชั่งใจตัวเองจึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด ที่จะช่วยชะลอการไหลของเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ของคุณ
การชอปปิ้งออนไลน์ คือ การเปลี่ยนแปลงของการซื้อของในยุคใหม่ที่กำจัดทุกข้อจำกัดที่เคยมีอยู่ และแน่นอนว่ากลายเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนยุคใหม่ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องระวังการใช้จ่ายที่เกิดความจำเป็นจนอาจทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตัวท่านเองได้
หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะไม่กลายเป็นเหยื่อการตลาด และมีเงินเก็บเพียงพอต่อการใช้จ่ายของตัวเองในแต่ละเดือน หรือเพื่อการเก็บออมในอนาคตที่วางแผนไว้ใช้ในยามเกษียณหรือในยามจำเป็นจริงๆ