ปัสสาวะเป็นเลือดร้ายแรงแค่ไหน
คนเราจำเป็นที่จะต้องปัสสาวะทุกวัน วันละหลายครั้ง ซึ่งการปัสสาวะเป็นหนึ่งสิ่งที่ร่างกายต้องทำเพื่อขับถ่ายของเสียออกนอกร่างกาย และทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้คุณทำหลังจากที่คุณปัสสาวะเสร็จในทุกครั้งก็คือ การหันไปมองว่าปัสสาวะของตนนั้นเป็นปกติหรือไม่? มีความเข้มหรืออ่อนเกินไปหรือเปล่า? หรือว่ามีสิ่งผิดปกติบางอย่างที่ปนอยู่ในปัสสาวะหรือไม่? เพราะการตรวจสอบปัสสาวะเป็นหนึ่งช่องทางที่คุณสามารถตรวจสอบสุขภาพของตัวเองได้แบบง่ายดาย
สิ่งผิดปกติอย่างหนึ่งที่สามารถพบเจอได้ในปัสสาวะ ก็คือ ‘เลือด’ ของคุณเอง ในกรณีที่คุณปัสสาวะแล้วมีเลือดปะปนมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นในปริมาณน้อยหรือมากก็ตาม มันคือสิ่งผิดปกติในร่างกายที่กำลังเตือนว่าคุณกำลังมีปัญหาอะไรบางอย่าง และจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน
การที่คุณปัสสาวะเป็นเลือดสามารถบ่งบอกได้ว่าในร่างกายของคุณอาจจะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งเกิดขึ้นมาเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการป่วยเป็นโรคไต หรือการป่วยเป็นโรคมะเร็ง โดยหากเลือดที่ปนออกมาสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็แสดงว่าคุณนั้นเริ่มมีอาการหนักแล้ว แต่ในบางกรณีเลือดที่ปนออกมาอาจจะมีปริมาณน้อยมากจนอาจจะทำให้คุณไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อที่จะบ่งชี้ว่าคุณนั้นมีอาการปัสสาวะเป็นเลือดเสียแล้ว ซึ่งหากเป็นกรณีหลังก็อาจจะเป็นภาวะเริ่มต้นที่หากแก้ไขได้ก่อนก็ย่อมได้เปรียบมากกว่า

ภาวะการปัสสาวะเป็นเลือด (Hematuria) สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่อาการดังกล่าวจะพบได้มากในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากอายุที่มากอาจเกิดความเสื่อมของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะได้มากกว่า โดยอาการที่พบก็คือ ปัสสาวะของคุณจะเปลี่ยนจากสีเหลืองอ่อนๆเป็นสีชมพูอ่อนหรือสีแดง หรือบางรายอาจจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งเป็นเพราะว่ามีการปะปนของเลือดอยู่ในน้ำปัสสาวะ รวมไปถึงอาจจะมีอาการเจ็บหรือแสบอวัยวะเพศร่วมด้วยในขณะที่มีการปัสสาวะนั่นเอง
สาเหตุของการปัสสาวะเป็นเลือดสามารถเกิดได้หลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาการเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ในการเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคไตเรื้อรัง ต่อมลูกหมากโต หรือเป็นมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งหากเมื่อใดก็ตามที่คุณสังเกตแล้วว่าปัสสาวะของคุณเปลี่ยนไป ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างแน่ชัด เพื่อชี้ว่าคุณนั้นมีความผิดปกติใดๆที่เกี่ยวข้องในร่างกายบ้าง
ในส่วนของการแก้ไขหรือการรักษาโรคนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าสาเหตุของการเกิดโรคนั้นเกิดขึ้นจากอะไร เพื่อที่จะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เช่น หากคุณมีการติดเชื้อเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ ก็จะต้องมีการให้ยาเพื่อรักษาอาการติดเชื้อนั้นๆ ซึ่งหากสามารถที่จะแก้ไขสาเหตุของต้นต่อของโรคได้ ก็จะทำให้อาการปัสสาวะมีเลือดปนมานั้นหายไปได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยภาวะการปัสสาวะเป็นเลือดสามารถใช้วิธีในการตรวจได้หลากหลายวิธี อาจจะเป็นวิธีเดียวหรืออาจจะเป็นหลายๆวิธีรวมกันก็ได้ ซึ่งวิธีการในการตรวจปัสสาวะว่ามีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่ก็จะมีหลักๆอยู่ 2 วิธี ได้แก่
1 CT Scan จะเป็นการเอกซเรย์ ซึ่งจะทำให้เผยภาพที่สามารถตรวจสอบได้ถึงเนื้องอกหรือนิ่วในไตได้
2 Cystoscopy จะเป็นการสอดท่อเข้าไปในท่อปัสสาวะ และจะมีการนำตัวอย่างของเนื้อเยื่อออกมาตรวจร่วมด้วย เพื่อวินิจฉัยว่าอาการที่คุณเป็นนั้นเกิดขึ้นจากโรคอะไรกันแน่

เมื่อทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคแล้ว ก็จะต้องมีการรักษาอาการด้วยการรับยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการติดเชื้อหรืออาจจะมีการสลายนิ่วในไตด้วยการใช้คลื่นเสียง เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการปัสสาวะเป็นเลือดนั้นเกิดจากอะไร ก็ต้องได้รับการรักษาให้ตรงกับสาเหตุของโรค
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเป็นเลือดก็จะต้องมีการปรับพฤติกรรมต่างๆของตัวเองให้มีความเหมาะสมมากขึ้นด้วย เพราะในบางครั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะเป็นตัวเร่งให้เกิดอาการปัสสาวะเป็นเลือดที่รุนแรงและเรื้อรัง หากแก้ไขในส่วนนี้ไดจะช่วยทำให้อาการปัสสาวะเป็นเลือดลดน้อยลงหรือหายไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งพฤติกรรมต่างๆที่คุณควรที่จะปรับเปลี่ยนก็จะเกี่ยวข้องกับการดูแลระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็น การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวัน การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด การงดสูบบุหรี่ และการรักษาสุขอนามัยที่ดีหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนที่จะป่วย และยิ่งต้องทำให้เข้มงวดมากขึ้นหากคุณมีอาการป่วยเป็นโรคต่างๆดังกล่าวไว้ข้างต้น
ภาวะปัสสาวะเป็นเลือดจะไม่น่ากลัวเลยหากคุณมีการเข้ารับการปรึกษาและตรวจร่างกายกับแพทย์อย่างทันท่วงทีที่พบความผิดปกติ และมีการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ ก็จะทำให้คุณลดโอกาสในการเจ็บหนักจากโรคนี้ รวมไปถึงลดโรคแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาภายหลังได้ด้วยเช่นกัน