การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, เกี่ยวกับโรค

โรคแพนิคเกิดขึ้นจากอะไร?

โรคแพนิคเกิดขึ้นจากอะไร?

ช่วงเวลาที่เรามีความเครียดจากสถานการณ์บ้านเมืองต่างๆ หรือโรคระบาดที่กำลังคุกคามอยู่รอบๆตัวเรา อาจจะทำให้เรารู้สึกแพนิค (Panic) หรือเป็นอาการตื่นตกใจมากกว่าปกติ ซึ่งอาการแพนิคที่ว่านี้ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานผิดปกติ และถือเป็นอาการที่คนในปัจจุบันเป็นกันมาก ยิ่งในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว คนเราสามารถเสพข่าวได้จากทุกช่องทาง ยิ่งทำให้อาการแพนิคเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

บทความนี้จะมาศึกษากันดูว่าอาการแพนิคเกิดขึ้นจากอะไร? แล้วจะสามารถลดผลกระทบของมันได้อย่างไรบ้าง?

โรคแพนิคเกิดขึ้นจากอะไร?
โรคแพนิคเกิดขึ้นจากอะไร? — ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/astounded-dark-skinned-afro-american-woman-grabs-face-stands-speechless-with-widely-opened-mouth_13956355.htm#query=panic%20&position=5

โรคแพนิค หรือ Panic disorder เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีการกำเนิดบนโลกนี้มานานแล้ว และพบผู้ป่วยในโรคนี้ไม่น้อยเลย แต่ส่วนใหญ่คนทั่วไปมักจะไม่ค่อยรู้จัก แม้กระทั่งป่วยเป็นโรคนี้ไปแล้ว ผู้ป่วยบางคนอาจจะยังไม่ทราบด้วยว่า อาการที่แสดงออกนั้นเป็นอาการของโรคแพนิค

โรคแพนิคเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ซึ่งมีผลทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกายผิดปกติ ซึ่งระบบประสาทจะทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกายหลายๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจหรืออวัยวะอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้นมาก็จะทำให้เกิดอาการหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก เหงื่อออกมาก รู้สึกร้อนๆหนาวๆ หายใจไม่ทั่วท้อง คล้ายจะเป็นลม เป็นต้น ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และไม่ได้มีสาเหตุอย่างแน่ชัด ที่สำคัญคือไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้

ความรู้สึกกลัวเหมือนว่าตัวเองกำลังจะตายหรือกำลังจะเป็นบ้าจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะสงบลงในเวลาประมาณ 10 นาที แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการนานไปกว่านั้น ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1 ชั่วโมง และเกิดอาการแบบนี้ซ้ำ ๆ โดยบางครั้งก็มีสิ่งกระตุ้นหรือบางครั้งก็ไม่มีสิ่งกระตุ้นใดๆ

อย่างไรก็ตาม โรคแพนิคไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่หัวใจผิดปกติ หากคุณเคยมีลักษณะอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ให้สงสัยเอาไว้ก่อนว่าคุณอาจจะเป็นโรคแพนิคเสียแล้ว

สิ่งที่ต้องทำเมื่อคิดว่าตัวเองกำลังจะถูกเจ้าโรคตัวนี้เล่นงานเสียแล้ว ก็คือ คุณต้องเดินไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการที่คุณเป็นอยู่ และเชื่อได้เลยว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ โดยต้องเริ่มต้นจากการให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดถึงความผิดปกติในร่างกาย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยทันที เพราะถึงแม้ว่าโรคแพนิคอาจจะไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิต แต่ก็มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพอื่นๆได้ เช่น โรคเกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ดังนั้น หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าคุณเป็นโรคนี้ จำเป็นที่จะต้องเข้ารักษาให้ทันท่วงที สำหรับวิธีการในการรักษาก็จะเป็นการเน้นการปรับสมดุลของเคมีในสมองที่เคยผิดปกติไป โดยจะเป็นการรับประทานยาบางชนิดที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ รวมไปถึงการตรวจหาสาเหตุอื่นๆ เช่น การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หรือมีการทำจิตบำบัดเพื่อบำบัดความกลัวในใจของผู้ป่วย รวมไปถึงการฝึกการคุมสติเมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้นมา และอาจจะต้องมีการควบคุมอาหารบางประเภทที่มีผลต่อการกระตุ้นอาการกำเริบของอาการแพนิค เช่น คาเฟอีนในกาแฟหรือน้ำอัดลม เป็นต้น

โรคแพนิคเกิดขึ้นจากอะไร?
โรคแพนิคเกิดขึ้นจากอะไร? — ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/portrait-student-girl-sitting-desk-biting-her-fist_1281607.htm#query=panic%20&position=15

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยรู้สึกแพนิค มีข้อปฏิบัติที่แพทย์แนะนำเบื้องต้นเพื่อช่วยในการควบคุมตัวเองเมื่อเกิดอาการ ดังต่อไปนี้

1. ค่อยๆหายใจเข้าออก ลึก ๆ ช้า ๆ พยายามเตือนตัวเองว่าอาการที่เป็นอยู่ไม่อันตราย ไม่นานก็จะหาย

2. พกยาที่แพทย์จ่ายไว้ติดตัว และทานยานั้นเมื่ออาการกำเริบรุนแรงหรือตามที่แพทย์สั่ง

3. รู้จักการผ่อนคลายจิตใจและไม่หมกมุ่นกับความคิดเชิงลบ หากิจกรรมผ่อนคลายสมอง เช่น ทำสมาธิ ออกกำลังกาย หรือทำงานอดิเรกตามความชอบส่วนบุคคล

การบำบัดอาการแพนิคจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการต่างๆข้างต้นพร้อมๆกัน เพื่อที่จะค่อยค่อยเยียวยาผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง

กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาโรคแพนิค อาจจะไม่ได้มีความเสี่ยงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกทรมานจากอาการข้างต้น และรู้สึกว่าการดำเนินชีวิตประจำวันต้องทำด้วยความวิตกกังวลตลอดเวลา ไม่กล้าอยู่คนเดียว หรือไม่กล้าที่จะออกไปเผชิญโลกภายนอกโดยไม่มีคนดูแล ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ไม่ปกติและคงไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเอง

ที่สำคัญจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่อาจจะเอื้อให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพนิคอีกครั้ง โดยไม่นำตัวเองเข้าไปอยู่ในภาวะที่เครียดและวิตกกังวล ก็จะช่วยทำให้คุณสามารถที่จะหายจากอาการดังกล่าวได้ ที่สำคัญก็จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเสพข่าวสารจะทำให้ตัวเองเครียดมากจนเกินไป รวมไปถึงการยุติชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ เพื่อให้ตัวเองได้มีเวลามากเพียงพอในการใช้ชีวิตและไม่มีการแพนิคอีกต่อไป

เชื่อว่าเราสามารถที่จะหลีกหนีจากภาวะของโรคแพนิคได้ หากเรารู้จักการวางตัวที่เหมาะสม มีทัศนคติเชิงบวก ดูแลจิตใจของตัวเองให้เป็นปกติ และอย่าลืมดูแลจิตใจของคนรอบข้างของเราด้วย เพียงเท่านี้ ก็คงจะทำให้คุณและคนที่คุณรักปลอดภัยจากโรคแพนิคได้อย่างแน่นอนแล้ว

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)