การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, เกี่ยวกับโรค

ตาขี้เกียจ คือ อะไรกันแน่

ตาขี้เกียจ คือ อะไรกันแน่

เคยได้ยินโรคสายตาขี้เกียจกันไหมคะ? โรคนี้อาจจะเป็นโรคที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก แต่เชื่อเลยว่าการเป็นโรคนี้สามารถมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้

ในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่าโรคสายตาขี้เกียจคืออะไร แล้วเราจะมีวิธีการในการแก้ไขให้สายตากลับมาเป็นปกติได้อย่างไรบ้าง

โรคสายตาขี้เกียจหรือ Lazy Eye เป็นปัญหาการมองเห็นภาพในดวงตา มีผลมาจากความผิดปกติในส่วนพัฒนาการการมองเห็นในเด็กทารกหรือในเด็กเล็ก โรคสายตาขี้เกียจนี้จะเกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยมีการส่งกระแสและภาพระหว่างดวงตาและสมองทำงานไม่เต็มที่ ทำให้สมองรับภาพจากดวงตาข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่ง หรือเพิกเฉยในการรับภาพจากดวงตาข้างที่มีประสิทธิภาพ้ด้อยกว่า จนทำให้การมองเห็นของดวงตาข้างนั้นลดลง

โรคสายตาขี้เกียจสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นหรือสามารถรักษาให้เด็กที่เป็นอยู่หายได้ ที่ต้องรีบรักษาอาการก่อนอายุ 8-9 ปี เพราะถ้ารักษาหลังจากนี้อาจจะไม่ได้ผล และอาจจะทำให้ดวงตาข้างนั้นมองเห็นได้ไม่ดีไปตลอดชีวิตเลย

ตาขี้เกียจ คือ อะไรกันแน่
ตาขี้เกียจ คือ อะไรกันแน่ — ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-photo/little-girl-wearing-occluder-eyeglasses-treatment-amblyopia-poor-eyesight_11613633.htm#page=1&query=Lazy%20Eye%20child&position=44

สำหรับสาเหตุของการที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ สามารถเกิดมาได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

1 สาเหตุจากอาการตาเหล่

ถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เหตุผลที่อาการตาเหล่สามารถทำให้เกิดเป็นภาวะอาการตาขี้เกียจได้ ก็เพราะว่าเด็กที่ตาเหล่มักจะใช้ตาที่มองตรงเพียงข้างเดียวในการมองุสิ่งต่างๆ และมักจะไม่ใช้ตาอีกข้างที่เหล่ในการมอง จนทำให้ตาข้างที่เหล่นั้นมัวลง และเกิดเป็นโรคตาขี้เกียจได้

วิธีการรักษาจึงต้องเป็นการแก้ไขด้วยการพยายามกระตุ้นการใช้งานของตาข้างที่ใช้น้อยกว่า และหากเป็นกรณีของอาการเป็นโรคตาขี้เกียจที่ไม่รุนแรงอาจจะมีการใช้ยาหยอดเพื่อขยายม่านตา เพื่อทำให้ตาข้างที่ดีมัวลง และทำให้เด็กพยายามใช้ตาข้างที่ขี้เกียจแทน จนทำให้พัฒนาการของดวงตาทั้งสองข้างดีเท่าเทียมกัน ก็จะทำให้สายตากลับมาเป็นปกติได้ ทั้งนี้ การรักษาโรคตาขี้เกียจจะได้ผลอย่างยิ่งสำหรับเด็กอายุน้อย เพราะยังมีการพัฒนาการของดวงตาได้อยู่ และจะใช้ระยะเวลาในการรักษาที่สั้นกว่าการรักษาเมื่อมีอายุมากขึ้น

2 สาเหตุจากสายตาผิดปกติ

สาเหตุของอาการตาขี้เกียจแบบนี้เกิดมาจากการที่ดวงตาทั้งสองข้างมีสายตาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ร่างกายพยายามจะใช้ตาที่มีสายตาผิดปกติน้อยกว่าในการมองเห็น ทำให้ตาอีกข้างหนึ่งเกิดเป็นโรคตาขี้เกียจได้

วิธีการในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับสาเหตุนี้ ก็คือ การสวมแว่นตาที่มีค่าสายตาที่เหมาะสมในดวงตาทั้ง 2 ข้าง เพื่อทำให้เด็กสามารถที่จะกลับมาใช้ตาทั้งสองข้างเท่ากัน เนื่องจากมีความสามารถในการมองเห็นที่เท่ากันแล้ว

ตาขี้เกียจ คือ อะไรกันแน่
ตาขี้เกียจ คือ อะไรกันแน่ — ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-photo/portrait-man-eyeglasses-rubbing-his-eyes-nose-bridge-feels-tired-after-working-laptop-isolated_7252938.htm#page=1&query=Lazy%20eye&position=14

3 สาเหตุจากการเกิดโรคตาต่างๆ

การเกิดโรคตาต่างๆที่ทำให้ตาไม่ได้ใช้ในการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็น โรคตาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่กำเนิดหรืออาจจะเกิดโรคความผิดปกติทางสายตาในช่วงที่เกิดขึ้นมาแล้ว จนทำให้ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนเก่า จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ตาข้างนั้นในการมองเห็นในชั่วขณะหนึ่ง และถึงแม้จะรักษาโรคนั้นจนหายดีแล้ว สายตาข้างที่มัวก็จะไม่กลับมาดีตามที่ควรจะเป็นเหมือนเดิม

วิธีการรักษาโรคตาขี้เกียจหากเกิดสาเหตุนี้ก็จำเป็นที่จะต้องพยายามฝึกพัฒนาการในการมองเห็นของตาข้างที่เคยผิดปกติให้ได้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นให้ดวงตาข้างนั้นสามารถกลับมาใช้งานได้มากขึ้นนั่นเอง

โดยส่วนใหญ่แล้ววิธีการในการรักษาโรคตาขี้เกียจของแต่ละสาเหตุจะใกล้เคียงกัน นั่นก็คือ การพยายามฟื้นฟูตาข้างที่ขี้เกียจหรือใช้ในการมองเห็นน้อย ให้กลับมามีประสิทธิภาพในการมองเห็นเทียบเคียงกับดวงตาอีกข้างให้ได้มากที่สุด เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ปรับเปลี่ยนการมองให้ใช้ตาทั้งสองข้างเท่าๆกัน ซึ่งหากยิ่งแก้ไขอาการโรคตาขี้เกียจได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าโรคตาขี้เกียจมักจะเป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นในเด็ก ดังนั้น ผู้ปกครองทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาลูกน้อยของคุณว่าลูกคุณมีปัญหาในการมองเห็นหรือไม่ ทั้งนี้ เด็กแต่ละคนอาจจะแสดงลักษณะของความผิดปกติที่แตกต่างกันออกไป หากพบเห็นว่าเด็กของคุณมีความผิดปกติในการมองเห็น ก็จำเป็นจะต้องรีบพาไปตรวจกับจักษุแพทย์ก่อนที่จะรักษาไม่ทัน และทำให้ไม่สามารถจะเปลี่ยนการมองเห็นของเด็กให้กลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง

โดยทั่วไปคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรพาเด็กมาตรวจตาครั้งแรกเมื่อมีอายุประมาณ 3-5 ปี และต้องสังเกตพฤติกรรมในการมองเห็นของลูกน้อยของคุณอยู่เสมอ เพราะเด็กเล็กอาจจะไม่สามารถพูดหรือบอกอาการผิดปกติของัวเองได้ หากผู้ปกครองพบว่ามีความผิดปกติใดๆ ก็ต้องเร่งพัฒนาสิ่งนั้นเพื่อให้กลับมาดีอีกครั้ง อีกทั้ง ยังต้องมีการให้กำลังใจและพบแพทย์ตามนัดเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และทำให้ผู้ป่วยสามารถกับมามองเห็นได้อย่างดีอีกครั้งหนึ่ง