การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ

ดูแลลำไส้ให้แข็งแรง ทำอย่างไร

ดูแลลำไส้ให้แข็งแรง ทำอย่างไร

 

อายุที่เพิ่มมากขึ้นสวนทางกับสุขภาพที่แย่ลง คำกล่าวนี้เป็นจริงในหลายๆคนที่มักจะต้องเจอกับปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองเมื่อตัวเองนั้นมีอายุที่มากขึ้น เหตุผลก็เพราะเมื่อร่างกายของเราแก่ตัวลง อวัยวะบางส่วนก็จะเสื่อมลง ทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม จากที่เคยทำงานได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะลดเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียว ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงจำเป็นต้องใช้งานมันอยู่เหมือนเดิม ระบบต่างๆในร่างกายต้องทำงานตลอดเวลา โดยเฉพาะระบบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการย่อยและดูดซึมอาหาร ที่มีการทำงานทุกวันอย่างต่อเนื่อง

หากเรามีการดูแลอาหารการกินได้ไม่ดี ก็ย่อมมีส่วนที่จะทำให้ระบบดังกล่าวนี้ถูกทำลายลง อายุที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้ลำไส้ของคุณทำงานได้น้อยลง การดูดซึมโปรตีนแย่ลง รวมถึงการสร้างกล้ามเนื้อที่ลดน้อยลงตามไปด้วย ถึงแม้ว่าความต้องการของพลังงานจะเท่าเดิม แต่คุณก็ไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารได้เท่าเดิม เพราะร่างกายไม่สามารถจะรับได้เหมือนเดิม จึงเป็นเหตุให้คนที่มีอายุมากขึ้นอาจจะดูท้วมมากขึ้นหรือมีน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

ดูแลลำไส้ให้แข็งแรง ทำอย่างไร
ดูแลลำไส้ให้แข็งแรง ทำอย่างไร — ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-photo/female-doctor-are-examining-by-abdominal-palpation-female-patient-sitting-bed-within-clinic_5048956.htm#page=1&query=colon%20care&position=39

ลำไส้ของคนเราก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เสื่อมไปตามวัยเช่นเดียวกัน และเมื่อใดก็ตามที่ลำไส้มีอาการที่อ่อนแอลง ก็จะเชื่อมโยงกับระบบของภูมิคุ้มกันร่างกาย ระบบน้ำเหลือง และส่งผลให้เกิดการติดเชื้อทางปอดหรือทางผิวหนังตามมาได้ เนื่องมาจากความเชื่อมโยงของเยื่อน้ำเหลืองภายในร่างกาย

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามถนอมลำไส้ให้ใช้งานได้ดีมากที่สุด เพราะหากคุณทำได้ จะสามารถป้องกันไม่ให้ลำไส้ถูกทำลายได้นานมากที่สุด ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะแข็งแรง และสุขภาพโดยรวมของร่างกายก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

แต่จะต้องทำอย่างไรให้ลำไส้มีความแข็งแรงมากขึ้น วันนี้เรามีคำตอบที่จะช่วยให้คุณดูแลลำไส้ได้ดีมากขึ้นด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเรา

จุลินทรีย์ที่ว่านี้มีชื่อว่า “โปรไบโอติกส์ (Probiotic) ซึ่งจุลินทรีย์ชนิดนี้มีอยู่หลายพันชนิดกระจายทั่วทั้งลำไส้ของเรา จุลินทรีย์ตัวนี้มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่างในระบบทางเดินอาหารของคน สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ หน้าที่ของโปรไบโอติกส์มีอยู่หลายประการ จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นมิตรกับร่างกายมนุษย์ มีส่วนช่วยในการดูดซึมสารอาหาร การป้องกันโรค และการรักษาภาวะที่ผิดปกติของร่างกาย ดังต่อไปนี้

ดูแลลำไส้ให้แข็งแรง ทำอย่างไร
ดูแลลำไส้ให้แข็งแรง ทำอย่างไร — ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-photo/older-asian-man-is-having-stomach-ache-pain-concept_3986303.htm#page=1&query=colon%20care&position=47

1 ปกป้องเซลล์ลำไส้จากเชื้อโรคที่ไม่ดี โปรไบโอติกส์จะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแทรกเข้าไปในกระแสเลือด จนเป็นอันตรายต่อระบบต่างๆของร่างกายได้

2 ช่วยย่อยสารอาหารบางอย่าง ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ลำไส้แข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม

3 ฆ่าเชื้อโรคที่ไม่ดี โปรไบโอติกมีความเป็นกรดอ่อนๆ ทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรคที่ไม่ดีได้

4 เพิ่มประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันร่างกาย โปรไบโอติกส์ทำหน้าที่ส่งสัญญาณกระตุ้นเม็ดเลือดขาวในเนื้อเยื่อน้ำเหลืองใต้ลำไส้ให้ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันทั้งปอดและผิวหนัง

จากประโยชน์ที่กล่าวถึงไปข้างต้น ก็จะพบว่าหากเราสามารถเพิ่มจำนวนของโปรไบโอติกส์ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ได้มาก ก็จะทำให้ลำไส้มีความสมดุลที่ดี แข็งแรง และจะส่งผลที่ดีต่อสุขภาพโดยรวมได้นั่นเอง

ทั้งนี้ เรายังจำเป็นต้องมีการควบคุมพฤติกรรมบางอย่างให้ดีด้วย เพราะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอาจจะเป็นการลดโปรไบโอติกส์ที่ดีในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินจำเป็น การบริโภคน้ำตาล การรับประทานอาหารที่มีการตัดแต่งทางพันธุกรรม การมีภาวะเครียด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ เป็นต้น

มีงานวิจัยที่ทำการทดลองเกี่ยวกับความสามารถของโปรไบโอติกส์ โดยพบว่าหากให้ผู้ทดสอบเสริมอาหารด้วยสูตรโปรไบโอติกส์และโปรตีนเวย์ โดยมีการรับประทานอย่างต่อเนื่องติดต่อกันนาน 4 เดือน จะมีผลทำให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นมากกว่าคนที่ไม่ได้รับประทาน และหากติดตามผลที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 1 ปี จะพบว่าการติดเชื้อโดยรวมลดลงถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ผิวหนัง หรือทางเดินปัสสาวะ

ทั้งนี้ เราสามารถได้รับโปรไบโอติกส์ได้จากการรับประทานอาหารหลากหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ เป็นต้น ซึ่งก็จะมีการกล่าวอ้างว่าโยเกิร์ตแต่ละชนิดนั้นมีโปรไบโอติกส์ตัวใดเป็นสำคัญ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นตัวใดก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลประโยชน์ที่ดีตอบสุขภาพของเราได้ทั้งสิ้น

การจะทำให้โปรไบโอติกส์ทำงานได้อย่างดี ต้องมีการรับประทานพรีไบโอติกส์เสริมเข้าไปด้วย เพราะพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออาหารของโปรไบโอติกส์ ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก ทำให้อาหารเหล่านี้เดินทางเข้าสู่ลำไส้ใหญ่โดยไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ถูกย่อยสลาย จนในที่สุดก็กลายเป็นอารหารของแบคทีเรียโปรไบโอติกส์ ทำให้สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรียได้ พรีไบโอติกส์พบได้ในหัวหอม กระเทียม ถั่วแดง ถั่วเหลือง ผักและผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น

ลองหาอาหารสุขภาพต่างๆเหล่านี้มารับประทานให้บ่อยครั้ง รับประทานแทนอาหารที่ไร้ประโยชน์ แม้ว่ารสชาติของมันอาจจะไม่ถูกใจคุณมากนัก แต่การหาสิ่งที่ดีเข้าสู่ร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่แข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

Sending
User Review
0 (0 votes)