เช็คหน่อยว่าแพ้อาหารหรือไม่ ทำอย่างไร
ปัญหาการแพ้อาหารเป็นปัญหาใหญ่ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการรับประทานอาหารของมนุษย์ แลtจะยิ่งใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นหากคุณเองไม่ทราบว่าตัวเองแพ้อะไร แล้วดันเผลอไปรับประทานอาหารนั้นเข้า จนทำให้เกิดเป็นอาการแพ้ขึ้นมา
เมื่อใดก็ตามที่เกิดอาการแพ้อาหาร ก็จะทำให้เกิดเป็นอาการที่หลากหลาย ตั้งแต่การมีผื่นขึ้นตามตัว อาการท้องเสีย หายใจลำบาก หรือถ้ารุนแรงมากๆก็อาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ซึ่งอาการในแต่ละบุคคลก็จะมีความแตกต่างกันออกไป และเกิดอาการเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป รวมถึงความรุนแรงในการแพ้ของแต่ละบุคคลด้วย
เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆที่เราจะต้องทราบว่าตัวเองแพ้อาหารประเภทใด เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทนั้นๆ และป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับอันตรายจากการรับประทานอาหารที่ตัวเองแพ้
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าเราแพ้อาหารอะไร ก็คือ การทดสอบการแพ้อาหาร ซึ่งจำเป็นจะต้องทำให้ถูกวิธีกับแพทย์ที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ ในบทความนี้เราจะมารู้จักกับวิธีในการทดสอบอาการแพ้อาหารกัน และอาหารกลุ่มใดบ้างที่มีโอกาสในการแพ้ได้สูง

กลุ่มอาหารที่คนส่วนใหญ่มักแพ้ก็มีอยู่หลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ไข่ ปลา นมวัว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี สัตว์น้ำเปลือกแข็ง หรือถั่วตะกูลtree nut (มะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ อัลมอนด์ หรือวอลนัท เป็นต้น)
แต่ละบุคคลก็จะมีโอกาสที่จะแพ้อาหารแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะแพ้อาหารเพียงแค่กลุ่มเดียว ในขณะที่หลายๆคนอาจจะแพ้อาหารมากกว่าหนึ่งกลุ่ม ซึ่งย่อมจะทำให้การรับประทานอาหารในแต่ละวันมีความยากลำบากมากขึ้นไปอีก เพราะต้องคอยระวังว่าอาหารที่รับประทานในแต่ละวันนั้นอยู่ในกลุ่มของอาหารที่มีโอกาสที่จะแพ้หรือไม่
สำหรับคนที่เกิดอาการแพ้อาหารจะสามารถแบ่งกลุ่มของอาการได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
1 ชนิดไม่เฉียบพลัน (Non – IgE – Mediated Food Allergy)
กลุ่มอาการนี้จะเกิดอาการแบบช้าๆ ค่อยๆ ปรากฏอาการ โดยกินเวลานานหลายชั่วโมงหรืออาจจะนานเป็นวัน หลังจากที่รับประทานอาหารนั้นเข้าไปแล้ว โดยอาการที่เกิดขึ้นก็จะเป็นอาการจำพวกผื่นเรื้อรัง ผื่นแดงคัน หรืออาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน หรือถ่ายเหลวรุนแรง เป็นต้น
2 ชนิดเฉียบพลัน (IgE – Mediated Food Allergy)
อาการแพ้ในกลุ่มนี้จะเป็นอาการที่แสดงออกภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป ลักษณะของอาการแพ้ชนิดเฉียบพลัน ได้แก่ ตาบวม ปากบวม ลมพิษ หลอดลมตีบ ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาเจียน เป็นต้น
3 ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis)
อาการแพ้ระดับนี้ คือ อาการแพ้ที่รุนแรงที่สุด และอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการที่เกิดขึ้นไล่ตั้งแต่การมีผื่นแดงตามผิวหนัง เป็นลมพิษ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

การทดสอบอาหารมีอยู่หลากหลายวิธี ดังต่อไปนี้
1 การทดสอบอาการภูมิแพ้ทางผิวหนัง
วิธีนี้จะเป็นการทดสอบผ่านทางผิวหนัง โดยผู้ป่วยจะต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยในช่วงเวลาก่อนการทดสอบอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แล้วต้องงดรับประทานยาแก้แพ้ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งการทดสอบในลักษณะนี้จะสามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 15 ถึง 20 นาที ซึ่งถือเป็นวิธีการเบื้องต้นในการทดสอบอาการแพ้อาหาร
2 การตรวจเลือด
การทดสอบแบบนี้จะสามารถทราบผลได้ภายใน 3-5 วันทำการ ผลที่ออกมาจะแสดงเป็นบวกและลบ ในกรณีที่เป็นบวก…แพทย์อาจจะให้งดทานอาหารนั้นๆ หรืออาจจะต้องมีการทำการทดสอบด้วยการรับประทานอาหารตามความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง แต่หากผลเป็นลบ…อาจจะพิจารณาทำการทดสอบด้วยอาหารเพียงเดียว
3 การทดสอบการแพ้อาหาร
การที่ให้ผู้ป่วยได้ลองรับประทานอาหารที่ต้องสงสัยว่าอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ โดยจะทดลองให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ และค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นเพื่อดูปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองออกมา ซึ่งจะเป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรคที่น่าเชื่อถือมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ที่รุนแรง ระหว่างการทดสอบจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงจะต้องทำการทดสอบในสถานพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน มีอุปกรณ์ ยา หรือเครื่องมือที่จะคอยดูแลผู้ป่วยเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด

สำหรับคนที่เหมาะสมกับการที่จะทดสอบอาการแพ้อาหาร ก็คือ คนที่สงสัยว่าตัวเองมีอาการแพ้อาหาร หรืออาจจะเป็นคนที่เคยรับประทานอาหารนั้นได้ แต่ต่อมาเกิดเป็นอาการแพ้อาหารขึ้นมา และต้องการพิสูจน์ว่าตัวเองแพ้จริงหรือไม่ หรืออาจจะเป็นคนที่เคยมีประวัติยืนยันแล้วว่าแพ้อาหารชนิดนั้น และต้องการที่จะทราบว่า ณ ปัจจุบันนี้ตัวเองหายจากอาการแพ้อาหารกลุ่มนั้นแล้วหรือยัง เป็นต้น
อาการแพ้อาหารอาจจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก ซึ่งเกิดขึ้นมาจากพันธุกรรมแต่กำเนิด หรืออาจจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นตอนโตก็ได้ เพราะฉะนั้นอาการแพ้อาหารจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอด ผลการทดสอบในวันนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเราโตขึ้น
เพราะฉะนั้นการทดสอบอาการแพ้อาหารจึงควรที่จะทำเมื่อเกิดความสงสัยขึ้นมา และจะต้องเลือกทดสอบการแพ้อาหารกับแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง เพื่อให้มั่นใจว่าการทดสอบอาการแพ้อาหารนั้นจะไม่เกิดเป็นอันตรายที่รุนแรงต่อร่างกายของเรา