การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้

ฮอร์โมนกับความรัก

ฮอร์โมนกับความรัก

 

ความรักเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของมนุษย์ ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ และความรักนี่แหละที่ทำให้มนุษย์สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าความรักนั้นจะเกิดขึ้นกับใคร จะเป็นความรักในครอบครัว ความรักของคู่รัก ความรักในเพื่อนฝูง หรือความรักต่อคนรอบข้าง เมื่อเกิดความรักขึ้นมาแล้วก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเสมอ

ภายใต้คำว่ารักนั้นมีความลับซ่อนอยู่หลากหลายประการ ซึ่งทางการแพทย์ก็พยายามจะอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดความรักขึ้นมา ว่าร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนหลายๆตัวออกมา ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะมีผลต่อการควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อะดรีนาลีน เซโรโทนิน เทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน และสุดท้ายคือฮอร์โมนสำคัญที่ชื่อว่า ออกซิโตซิน

ฮอร์โมนกับความรัก
ฮอร์โมนกับความรัก — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/woman-in-white-crew-neck-shirt-with-brown-and-white-heart-shaped-beaded-necklace-4065867/

โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก กล่าวถึงทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love) ซึ่งเป็นการอธิบายองค์ประกอบของความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดเป็นความรักว่ามีส่วนผสมของ 3 สิ่ง ดังต่อไปนี้

1) ความสนิทสนม (Intimacy) เป็นองค์ประกอบทางด้านอารมณ์ ความสนิทสนมทำให้คนรู้สึกเกิดความผูกพันและเข้าใจซึ่งกันแล้วกัน โดยความรู้สึกนี้จะค่อย ๆ ก่อตัวเมื่อมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และเป็นส่วนหนึ่งในทุกๆองค์ประกอบของความสัมพันธ์

2) ความใคร่หลง (Passion) หรือความเสน่หา สิ่งนี้ถือเป็นแรงขับภายใน หรือหลายคนอาจจะรู้จักมัในชื่อของ แรงดึงดูดทางเพศ

3) ความผูกพัน (Commitment) เป็นองค์ประกอบด้านความคิดที่มีการผูกมัด ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจหรือมีการทำสัญญาต่อกันและกันว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันต่อไปในระยะยาว ความผูกพันจะผันแปรไปตามระยะเวลา และแต่ละบุคคลจะมีความผูกพันแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เคยพบเจอมา

ในบทความนี้จะเน้นในส่วนของความรักที่เกิดจากฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งถือเป็นฮอร์โมนแห่งความรักที่จะทำหน้าที่ให้เกิดความผูกพันระหว่างคนสองคน ซึ่งกินระยะเวลาในการเกิดอาการ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ออกซิโตซินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง หน้าที่หลักของฮอร์โมนนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการคลอดลูกและให้นมบุตร และยังทำให้เกิดการผูกสายใยสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก

มากไปกว่านั้น ฮอร์โมนตัวนี้ยังจะทำให้เกิดความผูกพันกับบุคคลอื่นๆด้วย ซึ่งการหลั่งของฮอร์โมนตัวนี้จะมากขึ้นหากมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ในเรื่องของการกอด สัมผัสมือ หรือการมีเซ็กส์ และสิ่งที่จะตามมาก็คือความผูกพัน ความรัก และความเข้าใจระหว่างกันและกัน

และเป็นที่แน่นอนว่ามนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธการมีเซ็กส์ได้ เพราะการมีความสัมพันธ์ทางเพศถือเป็นแรงขับพื้นฐานของมนุษย์ และเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ในบางครั้งการมีเซกส์อาจจะไม่ได้มาพร้อมกับความรักเสมอไป ทำให้เกิดเป็นปัญหาต่างๆมากมายตามมา ทั้งนี้ ในขณะที่ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย สมองของผู้หญิงจะหลั่งสารออกซิโตซิน หรือฮอร์โมนแห่งความรักและความผูกพันออกมา ในทางตรงข้าม ผู้ชายจะมีฮอร์โมนชนิดนี้น้อยกว่า ทำให้หลายครั้งเมื่อการมีความสัมพันธ์บนเตียงจบลง ผู้ชายอาจจะรู้สึกถึงความผูกพันได้ไม่เทียบเท่ากับความผูกพันของผู้หญิง

ประโยชน์ของฮอร์โมนตัวนี้ก็มีอยู่อีกหลายประการ นอกเหนือจากที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการช่วยลดความเครียด สร้างความเห็นอกเห็นใจให้แก่ผู้อื่น เป็นต้น

ฮูร์เลมันน์ จิตแพทย์ชาวเยอรมัน แห่งมหาวิทยาลัยบอนน์ในเยอรมนี เคยตีพิมพ์ผลการทดลองที่น่าสนใจเกี่ยวกับออกซิโตซิน โดยนักวิจัยทดลองให้ชายหนุ่ม 20 คนที่มีความสัมพันธ์ราบรื่นและยาวนานกับแฟนของตัวเอง มาลองมองดูภาพของผู้หญิงหลายๆ คน ทั้งภาพของแฟนตัวเองและผู้หญิงที่เขาไม่รู้จัก พร้อมให้คะแนนความสวยในผู้หญิงแต่ละคน โดยแบ่งเป็นให้ผู้ทดลองพ่นออกซิโตซินและไม่พ่นฮอร์โมนที่จมูก ผลพบว่า ถ้าผู้ชายเหล่านั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของฮอร์โมน คู่รักของตนจะดูน่าดึงดูดใจมากกว่าเดิม

ฮอร์โมนกับความรัก
ฮอร์โมนกับความรัก — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/person-holding-baby-s-feet-2456327/

นอกจากนี้ ยังมีฮอร์โมนอื่นๆที่ทำงานคล้ายคลึงกับออกซิโตซิน นั่นก็คือ ‘เอ็นโดรฟิน’ ซึ่งหลายๆคนรู้จักกันดีว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข เอ็นโดรฟินก็เป็นหนึ่งฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองเช่นเดียวกัน แถมยังเป็นฮอร์โมนที่ไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เหมือนกับฮอร์โมนชนิดอื่น จำเป็นต้องให้ร่างกายสร้างขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายหลั่งสารตัวนี้ออกมา ก็ย่อมจะทำให้เกิดความสุข การผ่อนคลายความเครียด ลดอาการเจ็บปวด และทำให้เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อใดก็ตามที่คนมีความรักก็จะมีการหลั่งออกมาทั้งฮอร์โมนออกซิโตซินและฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน

ความรักเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ ทำให้คุณมีเป้าหมายในการใช้ชีวิต หรืออยากที่จะทำตัวให้ดีขึ้นในทุกวัน หากคุณใช้ความรักในทิศทางที่ถูกต้อง ความรักจะผลักดันให้คุณเป็นคนที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น หรือเป็นคนที่ดีขึ้นในทุกวัน ในทางตรงกันข้าม หากคุณใช้ความรักในทางที่ผิด อาจจะทำให้คุณเกิดเป็นความทุกข์ที่แสนสาหัส และจมปลักจนไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนของความรักได้

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านใช้ความรักในทิศทางที่ถูกต้องและนำเอาข้อดีของความรักเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับชีวิตของคุณตลอดไป

Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)