การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ

เด็กนอนกรนเสี่ยงอันตราย

เด็กนอนกรนเสี่ยงอันตราย

 

ปัญหาการนอนกรนเป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุค่อนข้างมาก หรือคนที่มีปัญหาในเรื่องของโรคอ้วน ซึ่งเกิดขึ้นมาจากความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย อย่างไรก็ตาม เด็กก็สามารถที่จะมีความผิดปกติเกี่ยวกับอาการนอนกรนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากเด็กมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้ จำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องให้ความสนใจ และรู้ถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยของคุณ รวมถึงหาวิธีการในการรักษาหรือแก้ไขเพื่อไม่ให้ลูกน้อยเกิดเป็นปัญหาที่หนักมากขึ้นในอนาคต

ภาวะการนอนกรนของเด็กมีอันตรายเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้อย่างละเอียด ภาวะการนอนกรน คือ การหายใจที่มีเสียงดังในขณะหลับ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จากการศึกษาจะพบว่าเด็กเพียงประมาณ 3 – 12 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอนกรน ซึ่งจะพบได้บ่อยเป็นพิเศษในช่วงอายุก่อนวัยเรียนหรือในช่วงชั้นอนุบาล เนื่องมาจากความผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิล ที่มีขนาดโตเมื่อเทียบกับขนาดของทางเดินหายใจของเด็ก

เด็กนอนกรนเสี่ยงอันตราย
เด็กนอนกรนเสี่ยงอันตราย — ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/smiling-baby-lying-bed_898742.htm#page=1&query=sleepy%20baby&position=3

ความผิดปกติของการหายใจที่เกิดขึ้นในขณะหลับ หรือ Obstructive Sleep Apnea Syndrome (OSAS) มีสาเหตุมาจากทางเดินหายใจที่มีการอุดกั้นบางส่วน หรืออาจจะเป็นการอุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นช่วงๆในขณะนอนหลับ จนไปรบกวนระบบการระบายลมหายใจ และระบบการนอนหลับ โดยไม่พบความแตกต่างของอัตราการเกิดโรคนี้ในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่โดยส่วนใหญ่เด็กที่เกิดอาการนี้จะเป็นแบบไม่เป็นอันตรายมากนัก อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจวินิจฉัยเด็กที่ในลักษณะแบบมีอันตราย หรือมีความผิดปกติของการหายใจด้วย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นมาในภายหลัง

เมื่อใดก็ตามที่เด็กมีอาการนอนกรน แน่นอนว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวของเด็กเอง ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การหายใจของเด็กลดลง หรืออาจจะทำให้เกิดเป็นภาวะการหยุดหายใจในขณะนอนหลับได้ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง และหากออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เด็กหายใจไม่ออก นอนกระสับกระส่าย ตื่นนอนกลางดึกบ่อยๆ และแน่นอนว่าการนอนของเด็กจะไม่มีคุณภาพและไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก

เมื่อการเรียนรู้ของเด็กๆที่นอนกรนผิดปกติไป จะทำให้พวกเขามีปัญหาในเรื่องของการพัฒนาในทุกๆด้านของทั้งร่างกายและสมอง ทั้งนี้ มีกลุ่มของเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการนอนกรนได้มากกว่าเด็กคนอื่นๆ โดยมักจะมีปัจจัยต่างๆที่จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจดังต่อไปนี้

– เด็กที่มีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต

– เด็กที่มีความผิดปกติของโครงสร้างภายในระบบทางเดินหายใจ หรือมีความผิดปกติของสมองในการคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจ

– เด็กที่อ้วนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน

– เด็กที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรม

– เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคปอดแบบเรื้อรัง

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องคอยสังเกตการนอนหลับของลูกน้อยของคุณ โดยอาการที่น่าสงสัยสำคัญ ก็คือ การที่เด็กมีอาการหายใจติดขัดหรือหายใจลำบาก นอนกระสับกระส่าย มีเหงื่อออกมากๆในเวลานอน อาจจะลุกขึ้นตื่นนอนกลางดึกบ่อยๆ หรือปัสสาวะรดที่นอน ทั้งนี้ เด็กบางคนอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการเรียนที่ตกลง สมาธิสั้น หรือมีระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าปกติ รวมไปถึงภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องสังเกตบุตรหรือลูกหลานของคุณ ก่อนที่อาการจะแย่ลงไปกว่านี้

ในส่วนของการวิเคราะห์วินิจฉัยการนอนหลับที่ผิดปกติของเด็ก ในปัจจุบันสามารถที่จะตรวจหาภาวะการเกิดโรคได้ด้วยการทดสอบการนอนหลับ (Pneumogram) ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานในการทดสอบ โดยจะต้องนำเด็กมานอนค้างคืนที่สถานที่ทดสอบที่จะเตรียมเอาไว้ แล้วจะต้องใช้เวลาในการทดสอบระหว่างการนอนหลับยาวนานประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบความผิดปกติในการนอนหลับของเด็กคนนั้นๆ และหากพบว่าเด็กมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับจริงๆ ก็จะต้องเข้ารับการรักษาต่อไป

เด็กนอนกรนเสี่ยงอันตราย
เด็กนอนกรนเสี่ยงอันตราย — ภาพจาก : https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/brain/snoring-in-children

วิธีในการรักษาอาการดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นความผิดปกตินั้นขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นเพราะต่อมอะดีนอยด์หรือต่อมทอนซิลผิดปกติ ก็จะต้องมีการผ่าตัดเพื่อช่วยรักษาอาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดอื่นๆ เพื่อจะเป็นการแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างทางเดินหายใจที่อาจจะแคบกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดเป็นภาวะความผิดปกติในขณะนอนหลับนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าความผิดปกติของการนอนหลับในเด็กอาจจะมีผลรุนแรงต่อพัฒนาการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากเด็กมีพัฒนาการที่ช้า ก็จะส่งผลต่อระดับในการเรียนรู้ สมาธิ และสติปัญญา ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปในระยะยาว และย่อมไม่เป็นผลดีกับเด็กในทุกๆด้าน

ลองสังเกตลูกน้อยหรือเด็กในความปกครองคุณดูว่าพวกเขามีความผิดปกติระหว่างการนอนหลับหรือไม่ หากมี…ต้องรีบนำเด็กเข้าสู่ระบบการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อที่จะให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างเป็นปกติต่อไปในอนาคต

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)