การดูแลสุขภาพ, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้

แก้ปวดประจำเดือนให้ปลอดภัย

แก้ปวดประจำเดือนให้ปลอดภัย

ผู้หญิงหลายคนจะต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดประจำเดือนที่มาเดือนละ 1 ครั้ง ระดับความเจ็บปวดก็จะแตกต่างออกไปในแต่ละบุคคล มีตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง ไปจนถึงระดับที่ไม่สามารถที่จะทนได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอาการปวดในระดับใด ก็จำเป็นจะต้องมีการดูแลด้วยวิธีที่ถูกต้องทั้งสิ้น เพื่อจะทำให้อาการปวดที่คุณมีอยู่นั้นลดน้อยลง รวมไปถึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือระบบสืบพันธุ์ในระยะยาว

อาการปวดประจำเดือนสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่กำลังมีประจำเดือนหรือเป็นอาการก่อนมีประจำเดือน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการปวดที่เกิดขึ้นจะมีระยะเวลาไม่เท่ากัน รวมไปถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็จะไม่เท่ากันด้วย ทั้งนี้ เราสามารถที่จะแบ่งกลุ่มของอาการปวดประจำเดือนได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

แก้ปวดประจำเดือนให้ปลอดภัย
แก้ปวดประจำเดือนให้ปลอดภัย — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/crop-woman-in-pain-on-sofa-5938358/

1 อาการปวดประจำเดือนชนิดไม่รุนแรง (Primary Dysmenorrhea)

อาการปวดแบบนี้เป็นอาการปวดที่ผู้หญิง 70-80 เปอร์เซ็นต์เป็นกันในช่วงการมีประจำเดือน ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะมีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เมื่อมีการพักผ่อนหรือมีการดูแลตัวเองรวมไปถึงการได้รับยาบางชนิด อาการปวดที่มีก็จะทุเลาลง และสามารถที่จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติดังเดิม

อาการปวดแบบนี้มักจะเริ่มต้นตั้งแต่คนที่เป็นวัยรุ่นหรือเริ่มเข้าสู่วัยสาว โดยจะเริ่มปวดรอบเดือนหลังจากที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกโดยระดับของอาการปวดจะมากขึ้นจนสูงสุดในช่วงอายุประมาณ 15 ถึง 25 ปี แต่เมื่ออายุมากขึ้นไปกว่านั้น อาการปวดก็อาจจะลดน้อยลง หรือบางรายอาจจะหายไปเองเมื่อได้มีการแต่งงานหรือมีบุตร

ทั้งนี้ สาเหตุของการปวดประจำเดือนในลักษณะอาการที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นมาจากการที่ปากมดลูกหรือมดลูกมีลักษณะตึงแน่นจนเกินไป ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดีเพียงพอ รวมไปถึงอาจจะเป็นเรื่องของการแปรปรวนของฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการปวดที่เกิดขึ้นได้

2 อาการปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง (Secondary Dysmenorrhea)

การปวดประจำเดือนชนิดรุนแรงอาจจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นการปวดประจำเดือนทุติยภูมิ อาการปวดชนิดนี้จะมีอาการที่รุนแรงถึงรุนแรงมาก จนรบกวนการทำงาน การเรียนหนังสือ หรือการใช้ชีวิต ทำให้จำเป็นต้องหยุดงานหรือหยุดเรียน เพราะไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตตามปกติได้

เมื่อมีการใช้ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนไปแล้วก็ยังไม่ได้ผลมากเท่าไรนัก อาจจะสามารถลดการปวดได้เพียงแค่เล็กน้อยหรืออาจจะไม่ได้ผลเลย

อาการเช่นนี้มักจะเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดประจำเดือนแบบรุนแรงจะเป็นลักษณะของความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกายคุณผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็น ผนังมดลูกงอกผิดที่ เกิดเนื้องอกที่มดลูก มีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เป็นต้น ซึ่งความผิดปกติต่างๆนี้จะส่งผลกระทบให้เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นมาอย่างรุนแรงนั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วการปวดประจำเดือนแบบรุนแรงจะพบได้ประมาณร้อยละ 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงทั้งหมดที่มีอาการปวดประจำเดือน หากคุณผู้หญิงคนไหนที่มีอาการปวดประจำเดือนและในลักษณะนี้จำเป็นต้องรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อได้รับการดูแลรักษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

แก้ปวดประจำเดือนให้ปลอดภัย
แก้ปวดประจำเดือนให้ปลอดภัย — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/anonymous-woman-in-panties-standing-in-studio-with-menstrual-cup-in-hands-5938638/

เมื่อสามารถรู้แล้วว่าลักษณะของอาการปวดประจำเดือนเป็นในรูปแบบใดบ้าง ก็ต้องรู้จักวิธีในการดูแลร่างกายให้ถูกต้อง หากเป็นลักษณะของการปวดเพียงเล็กน้อย สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการใช้ถุงน้ำร้อนประคบในตำแหน่งที่มีอาการปวด หรือเลือกใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน กรดมีเฟนามิก ไอบูโพรเฟน ในการระงับอาการปวดได้ ซึ่งหากเป็นอาการที่ไม่รุนแรงการรับประทานยาพาราเซตามอล 500 mg หรือยาแอสไพริน 300 mg ครั้งละ 1 2 เม็ดวันละ 3-4 ครั้งในช่วงเวลาหลังอาหารหรือก่อนนอน หรือทุกๆ 6 ชั่วโมง ก็สามารถที่จะบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้เป็นอย่างดีแล้ว

แต่หากมีอาการปวดที่มากขึ้นในระดับปานกลางอาจจะใช้เป็นยากรดมีเฟนามิก 250 ถึง 500 mg หรือไอบูโพรเฟน 200 ถึง 400 mg 1 เม็ดวันละ 3 ครั้ง ในช่วงหลังอาหารก็ใช้ได้ผลดีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เมื่อใดก็ตามที่อาการปวดท้องทุเลาลงแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องกินยาต่อไปอีก สามารถหยุดยาได้เลยทันที เพราะยาดังกล่าวทั้งหมดนี้มีหน้าที่ในการบรรเทาอาการปวดเท่านั้น

หรือหากคุณสามารถที่จะพยากรณ์ได้ว่าตัวเองจะเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนเมื่อใด คุณก็สามารถที่จะรับประทานยาแก้ปวดก่อนที่จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

แต่หากคุณมีอาการปวดชนิดรุนแรง ซึ่งเกิดมาจากสาเหตุความผิดปกติภายในระบบต่างๆในร่างกาย อย่างเช่น มดลูกหรือรังไข่ การรับประทานยาเหล่านี้อาจจะไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้โดยตรง คุณจำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติภายในร่างกาย และแก้ไขอย่างถูกจุด เพื่อที่จะทำให้อาการปวดที่เคยเป็นนั้นหายไป

อย่าอายที่จะเข้าพบแพทย์เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ เนื่องจากสิ่งนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาที่รอให้เกิดไม่ได้ เมื่อมีปัญหาต้องรีบแก้ไขทันที เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่อาจจะมีความรุนแรงจนถึงชีวิตได้ในอนาคต

หวังว่าการแก้ไขอาการปวดประจำเดือนของผู้หญิงทุกคนจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เพื่อทำให้เราสามารถที่จะใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น และไม่สะดุดอีกต่อไป

Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)