การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ

บำบัดจิตใจด้วยเสียงดนตรี

บำบัดจิตใจด้วยเสียงดนตรี

ดนตรีกับชีวิตเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันมาโดยตลอด แต่เราอาจจะไม่เคยใส่ใจถึงความสำคัญของศาสตร์ที่ว่านี้ มนุษย์สามารถที่จะมีความสุขเล็กๆน้อยๆได้จากการฟังเพลงหรือเล่นดนตรี เพราะเป็นความบันเทิงที่เกิดขึ้นจะช่วยผ่อนคลายจิตใจ และทำให้พวกเขามีกำลังใจในการที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปแม้จะต้องเจอกับเรื่องราวที่โหดร้ายในชีวิต

มากไปกว่านั้น ดนตรียังสามารถนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในด้านของจิตใจ ความคิด ความผิดปกติในร่างกาย หรือทักษะทางสังคม เพื่อยกระดับให้คุณภาพในด้านต่างๆดีขึ้น เพิ่มพูนศักยภาพบางอย่างภายใตัวเอง ซึ่งมีความแตกต่างจากการรักษาโรคด้วยวิธีการอื่นๆ

ในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงวิธีการใช้ดนตรีบำบัดว่ามีลักษณะอย่างไร และจะสามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง

บำบัดจิตใจด้วยเสียงดนตรี
บำบัดจิตใจด้วยเสียงดนตรี — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/photography-of-woman-listening-to-music-761963/

การใช้ดนตรีบำบัด (Music Therapy) แตกต่างจากการรักษาโรคด้วยวิธีการอื่นๆ เพราะดนตรีบำบัดไม่สามารถที่จะรักษาคนป่วยให้หายจากโรคได้โดยตรง ไม่ได้ทำให้แผลหายหรือทำให้โรคร้ายแรงจางหายไป แต่การใช้ดนตรีบำบัดมีความสามารถที่จะช่วยบรรเทาอาการบางอย่าง ช่วยให้คนที่ได้รับการบำบัดด้วยดนตรีมีอารมณ์ร่วม และเกิดสัมพันธภาพในการบำบัดร่วมไปกับดนตรีที่ได้รับฟังอยู่

เหตุผลก็เพราะการที่เราได้รับฟังเสียงดนตรีไม่ว่าจะเกิดจากเครื่องดนตรีชนิดใดก็ตาม เปรียบเสมือนการได้รับสารที่ถูกถ่ายทอดจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นการถ่ายทอดทางอารมณ์ที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนฮอร์โมนหรือความเครียดในจิตใจ และสามารถทำให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบางอย่างได้

ในทางการแพทย์…การใช้ดนตรีบำบัดเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมานานแล้ว เพราะเชื่อกันว่าดนตรีมีส่วนที่จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับฟังรู้สึกผ่อนคลายจากความเจ็บปวด ผ่อนคลายจากความเครียด หรือผ่อนคลายจากความกังวลในเรื่องที่หนักใจลงได้

อีกทั้ง ยังมีงานวิจัยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการใช้ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด โดยมีการให้ผู้เข้าทดสอบใช้ดนตรีในการบำบัดจิตใจเทียบกับการใช้ยาบางชนิด เพื่อลดความกังวลก่อนเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งพบว่าดนตรีมีความสามารถที่จะช่วยลดความเครียดและความกังวลของผู้ป่วยได้ หรือมีผลทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดลดลง ซึ่งเป็นผลที่ดีได้มากกว่าการใช้ยาลดความเครียดบางชนิดด้วยซ้ำ

ในส่วนของการบรรเทาภาวะซึมเศร้า ก็สามารถใช้ดนตรีเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความสงบทางอารมณ์ นอนหลับง่ายมากขึ้นได้ และมีผลให้อาการซึมเศร้าลดน้อยลงได้นั่นเอง

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าดนตรีบำบัดเปรียบเสมือนการให้ยาที่มีผลต่อจิตใจ ช่วยกระตุ้นสมอง และปรับฮอร์โมนบางอย่างที่จะทำให้ผู้ฟังมีความเครียดที่ลดน้อยลง ช่วยบำบัดจิตใจให้ยกระดับอารมณ์ไปสู่ความสงบได้เป็นอย่างดี ตอบโจทย์การรักษาด้านจิตใจที่มีประสิทธิภาพสูง

บำบัดจิตใจด้วยเสียงดนตรี
บำบัดจิตใจด้วยเสียงดนตรี — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/woman-listening-on-headphones-374703/

หลายคนอาจจะคิดว่าการใช้ดนตรีในการบำบัดผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเป็นดนตรีที่เป็นเพลงบรรเลงหรือเป็นเสียงจากธรรมชาติที่จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลายเพียงเดียวเท่านั้น แต่จริงๆแล้วดนตรีบำบัดสามารถใช้เพลงในทุกๆประเภทในการเยียวยาผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เพลงคลาสสิค เพลงแร็พ เพลงร็อค เพลงลูกทุ่ง หรือแม้กระทั่งเพลงฮิปฮอป ก็สามารถช่วยให้ผู้ฟังเกิดความผ่อนคลายได้ ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้ฟังนั้นชอบฟังเพลงประเภทใด และเพลงเหล่านั้นทำให้เกิดความรู้สึกร่วมไปกับเพลงที่ฟังอยู่หรือไม่ เพราะความรู้สึกร่วมไปกับเพลง คือตัวการสำคัญที่จะทำให้การบำบัดได้ผลดี

ในปัจจุบัน การใช้ดนตรีบำบัดโรคทางจิตเวชเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้ ซึ่งจะมีขั้นตอนวิธีการง่ายๆเริ่มตั้งแต่การพยายามเปิดเพลงในจังหวะต่างๆให้ผู้ป่วยฟัง และให้ผู้ป่วยลองขยับตัวเข้ากับจังหวะ หรือการใช้อุปกรณ์ที่เกิดเสียงเคาะตามจังหวะของเพลง จากนั้น จะให้ผู้ป่วยได้บอกความรู้สึกที่ได้รับจากการฟังเพลงการบำบัดเช่นนี้

การบำบัดด้วยดนตรีควรทำครั้งละ 1 – 1.5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง การทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องสามารถทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่ดีมากขึ้น และสามารถหลุดพ้นจากความเศร้าได้

การใช้ดนตรีบำบัดร่างกายหรือจิตใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใช้ดนตรีประเภทใดในการบำบัด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกดนตรีอย่างไร เพื่อใช้ในการบำบัดในแต่ละบุคคล โดยผู้บำบัดจะต้องรู้จักความต้องการและวัตถุประสงค์ของคนที่ต้องการที่จะบำบัดความเครียด ต้องรู้ว่าเขาชอบเพลงแบบไหน เพราะสิ่งที่เขาต้องการจะช่วยเยียวยาจิตใจของเขาได้

ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ป่วย คุณก็สามารถที่จะฟังดนตรีหรือเล่นดนตรีเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ หรือผลักดันศักยภาพภายในร่างกายให้มากขึ้นได้ ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ดนตรีบำบัดมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือเป็นคนธรรมดาก็ตาม หากได้มีการรับฟังเสียงเพลงเป็นประจำ ก็ย่อมทำให้เกิดเรื่องที่ดีๆในชีวิตขึ้นมาได้

การฟังดนตรีสามารถทำให้คุณขจัดความเครียด ช่วยกระตุ้นความทรงจำ บรรเทาอาการเจ็บป่วย หรืออาจจะช่วยเพิ่มทักษะในการสื่อสารระหว่างกันและกันได้ รวมทั้งทำให้การเข้าสังคมของคุณเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น