บทความน่ารู้, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

กลั้นปัสสาวะ…ทำอย่างนี้ไม่ดีแน่

บางครั้งบางเวลา การเข้าห้องน้ำเพื่อปลดทุกข์ก็เป็นสิ่งที่ยากลำบากเสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นการติดอยู่บนรถหลายๆชั่วโมงในวันที่รถติด การติดคุยงานหรือประชุมอย่างต่อเนื่อง ความขี้เกียจที่จะลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำ หรือแม้แต่การไม่อยากเข้าห้องน้ำสาธารณะที่สกปรก พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้คนส่วนใหญ่จำเป็นที่จะต้องกลั้นปัสสาวะเอาไว้ และรอเวลาที่เหมาะสมจึงจะปลดปล่อยมันออกมา โดยไม่รู้เลยว่าการกระทำดังกล่าวนี้มีผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เกิดอาการของโรค “กระเพราะปัสสาวะอักเสบ” นั่นเอง

กลั้นปัสสาวะ...ทำอย่างนี้ไม่ดีแน่
ภาพจาก : http://health.kapook.com/view13695.html กลั้นปัสสาวะ…ทำอย่างนี้ไม่ดีแน่

    “ไม่อยากไปเข้าห้องน้ำเลย แค่กลั้นปัสสาวะเฉยๆ คงไม่เป็นไรหรอกมั้ง” นับเป็นหนึ่งในหลายๆความคิดของคนบางคนที่มักจะละเลยและไม่ใส่ใจกับการเข้าห้องน้ำเสียเท่าไรนัก แต่ทราบหรือไม่คะว่า สาเหตุเล็กๆที่คุณกำลังมองข้ามไปนี้จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวคุณได้อย่างสาหัสเลยทีเดียว
ทุกครั้งที่มีการปัสสาวะก็เปรียบเสมือนการล้างเอาเชื้อโรคที่พลัดหลงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะทิ้งออกสู่ภายนอก กลไกนี้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเองตั้งแต่เราเกิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคร้ายแรงเข้ามาทำลายกระเพาะปัสสาวะอันบอบบางของเราได้ แต่ถ้าเราพยายามฝืนกฎของธรรมชาติโดยการกลั้นปัสสาวะเอาไว้และไม่ขับถ่ายปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ แน่นอนว่าโอกาสในการติดเชื้อย่อมมีสูงมากขึ้นไปกว่าการขับถ่ายที่เป็นปกติอย่างแน่นอน

          การกลั้นปัสสาวะไว้เป็นเวลานาน ๆ ก็เปรียบเหมือนการที่เรากักเก็บให้เกิดน้ำขังนิ่งเอาไว้ และไม่มีการไหลเวียนภายในเลย การกระทำเช่นนี้ย่อมส่งผลให้เชื้อโรคหรือเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆเจริญเติบโตหรือเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้อย่างง่ายดาย ซึ่งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเหล่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดต่อกระเพาะปัสสาวะ แถมยังส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือการอักเสบที่นำพาให้เกิดอาการต่างๆที่เลวร้ายตามมาได้ด้วย

    เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นตัวการเกิดโรคที่พบบ่อย ก็คือ เชื้อแบคทีเรียอีโคไล ( E.Coli ) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้มากในอุจจาระของคนทั่วไป เนื่องจากทวารหนักและท่อปัสสาวะอยู่ใกล้กันมาก โอกาสในการปนเปื้อนของเชื้อประเภทนี้จึงเกิดขึ้นได้บ่อยที่สุด

กลั้นปัสสาวะ...ทำอย่างนี้ไม่ดีแน่
ภาพจาก : http://justgoodhealth.blogspot.com/2011/08/blog-post_25.html กลั้นปัสสาวะ…ทำอย่างนี้ไม่ดีแน่

            เวลาที่เราปัสสาวะ ส่วนของน้ำปัสสาวะที่ออกมาในช่วงต้นๆ จะเป็นปัสสาวะที่เกิดขึ้นก่อนและขังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานกว่า ซึ่งเราสามารถสังเกตลักษณะของปัสสาวะที่ออกมาเพื่อประเมินการเกิดโรคในร่างกายมนุษย์ได้ โดยหากพบว่าปัสสาวะที่ออกมาก่อนมีความขุ่น อาจจะสันนิษฐานได้ว่ามีการอักเสบหรือติดเชื้อเกิดขึ้นในระบบปัสสาวะส่วนที่อยู่ต่ำ ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ แต่ถ้าปัสสาวะที่ออกมาก่อนใสดี แต่เริ่มขุ่นในช่วงท้าย ๆ ก็สันนิษฐานได้ว่าการอักเสบน่าจะเกิดในช่วงทางเดินปัสสาวะที่อยู่สูง เช่น หลอดไต หรือ ที่ไตข้างใดข้างหนึ่ง

            อาการของการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ก็คือ ปัสสาวะบ่อย ครั้งละไม่มากแบบกะปริบกะปรอย รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ เจ็บที่ท่อปัสสาวะ บางครั้งอาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย หรือบางคนที่เป็นหนักอาจจะรู้สึกเหมือนโดนมีดบาดเวลาปัสสาวะออกมาก็เป็นได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ในบางรายที่มีอาการมากๆอาจจะปัสสาวะออกมาเป็นเลือดเลยก็มี

    อาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการที่ยากที่จะทนหรือรับมือไหว ดังนั้นผู้ป่วยโดยมากจึงจะต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยทันที บางราย การอักเสบไม่อยู่แค่ที่กระเพาะปัสสาวะเพียงเท่านั้น แต่ยังลุกลามขึ้นไปถึงไต อวัยวะสำคัญในการกรองของเสีย จนทำให้เกิดการอักเสบที่เรียกว่า กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน หรือ การอักเสบของเนื้อไตและเยื่อบุภายในหลอดไตที่เชื่อมต่อกับไต ซึ่งหากการติดเชื้อลุกลามมาจนถึงอวัยวะชิ้นนี้ จะถือว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก หากรักษาไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายร้ายแรง เช่น เกิดโลหิตเป็นพิษ หรือ ไตวายเฉียบพลันได้เลย เป็นต้น
อาการของโรคนี้มักเกิดได้บ่อยในสุภาพสตรีมากกว่าสุภาพบุรุษ ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะความแตกต่างทางสรีระของคนทั้งสองเพศ กล่าวคือ ท่อปัสสาวะของคุณผู้หญิงจะมีความยาวที่สั้นกว่าของคุณผู้ชายมาก โดยผู้หญิงจะมีความยาวเพียงแค่ 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้โอกาสในการติดเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะของสตรีได้ง่ายกว่าบุรุษเป็นอย่างมาก และยิ่งถ้าเป็นในหญิงตั้งครรภ์ก็จะยิ่งพบอาการดังกล่าวบ่อยขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
การรักษาอาการดังกล่าวในช่วงต้นที่เริ่มเป็น ควรเริ่มจากการพยายามดื่มน้ำให้มากๆ และควรเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่รู้สึกปวดปัสสาวะ ถ้ารู้สึกปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล อะม็อกซีซิลลิน หรือนอร์ฟล็อกซาซิน แต่ถ้ารู้สึกว่าอาการยังไม่ดีขึ้นหรือยังคงมีอาการเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง

    วิธีการทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ต้องเป็นกังวลอีกต่อไป เพราะด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นโดยการเอกซเรย์หรือการส่องกล้อง (Cystoscope) ก็ล้วนแต่เป็นวิธีที่จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการดังกล่าวนี้ได้อีกต่อไป

Sending
User Review
0 (0 votes)