บทความน่ารู้

สารหนู ชื่อเล็กแต่อันตรายใหญ่

สารหนู (arsenic) เป็นธาตุที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล เป็นที่ทราบกันดีว่าสารหนูจัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง แต่ความเป็นพิษของมันจะแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบทางเคมีที่พบ โดยทั่วไปแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ สารหนูอินทรีย์ (Organic) และสารหนูอนินทรีย์ (Inorganic) โดยหากเป็นสารหนูอนินทรีย์จะมีพิษที่ร้ายแรงกว่าถึงขั้นก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้เลยทีเดียว

clip_image002

ภาพจาก : http://www.nimt.or.th/nimt/lab/index.lab.php?DeptId=31&LabId=40&menu=article.detail&ArticleId=531

อย่างไรก็ตาม พบว่าการได้รับสารหนูในระดับความเข้มข้นต่ำไปนาน ๆ จะเกิดการสะสมทำให้เกิดโรคเรื้อรังได้ เช่น โรคในระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท หัวใจ ผิวหนัง และตับ โดยอาการที่พบได้บ่อยจะปรากฎที่ผิวหนัง นอกจากนี้อาจแสดงสัญญาณอันตรายอื่นๆ เช่น เล็บเปราะ เล็บมีขีดขาว (Mee?s line) ผมร่วง เจ็บคอ ไอมีเสมหะ และทำให้ผนังกั้นโพรงจมูกเป็นแผลหรือทะลุได้

แหล่งที่มาของสารหนูมาได้จากทั้งตามธรรมชาติและด้วยฝีมือมนุษย์ ในกรณีที่พบตามธรรมชาติ จะเกิดจากการชะล้างของหินและแร่ที่มีสารหนูเป็นองค์ประกอบลงสู่สิ่งแวดล้อมทั้งในดินและในน้ำ หรือในกรณีที่เกิดจากมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น การทำเหมืองแร่ การถลุงโลหะ การใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในการเกษตร เป็นต้น โดยพบว่าอาจมีการใช้สารหนูเป็นวัตถุดิบในการผลิตยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง น้ำยาถนอมเนื้อไม้ หรือบางครั้งมีการนำมาผสมในอาหารสัตว์และในยา โดยอาหารที่จัดว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะพบการปนเปื้อนของสารหนู เช่น น้ำแร่ อาหารสัตว์ ข้าว สัตว์หรือพืชทะเล เป็นต้น

จากแหล่งที่มาข้างต้น สารหนูสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทางทั้งการสัมผัสผ่านผิวหนังและการสูดดมหายใจ การรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน ซึ่งหากได้รับผ่านทางการรับประทานจะทำให้ร่างกายดูดซึมได้รวดเร็วมากที่สุดและเป็นอันตรายต่อร่างกายมากที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม กลไกของร่างกายมีการป้องกันตัวเองโดยการกำจัดสารหนูออกทางปัสสาวะ ซึ่งสามารถลดปริมาณสารหนูลงได้ประมาณ 80-90% ภายในระยะเวลา 2 วัน

การรับประทานอาหารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และรับประทานอาหารที่หลากหลายไม่จำเจจะช่วยป้องกันอันตรายจากการได้รับสารพิษจากสารหนูได้

Sending
User Review
0 (0 votes)