Uncategorized, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี

ดูแลใจคนไข้ซึมเศร้าก่อนเขาทำร้ายตัวเอง

ดูแลใจคนไข้ซึมเศร้าก่อนเขาทำร้ายตัวเอง

อาการของโรคซึมเศร้าถือเป็นโรคที่มีความกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกับคนปกติทั่วไป เขาอาจจะกินข้าวไม่ลง หรืออาจจะนอนไม่ค่อยหลับ หรือบางครั้งอาจจะหมกมุ่นกับเรื่องเก่าๆที่จะทำให้สภาพจิตใจแย่ลงเรื่อยๆ

วิธีในการรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน ทางจิตแพทย์จะมีหลักวิธีการในการรักษา 3 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคลดังนี้

1 การรักษาทางกาย จะเป็นการรักษาด้วยการให้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยมีการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ รวมไปถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยให้กลับมาแข็งแรง

2 การรักษาทางจิตใจ จะเป็นการพยายามปรับสภาพอารมณ์ ลดความเครียด และปรับสภาพจิตใจให้กลับสู่ภาวะปกติให้ได้มากที่สุด

3 การรักษาทางสังคม จะเป็นการเสริมศักยภาพ และความสามารถในการทำกิจกรรมกับสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในภาวะปกติได้ดังเดิม

ทั้งนี้ ผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะมีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป อาจจะทำเพียงข้อใดข้อหนึ่งหรือทำร่วมกันทั้ง 3 ข้อพร้อมกันก็ได้ แล้วแต่อาการและการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งพิจารณาให้สอดคล้องในผู้ป่วยแต่ละบุคคล

ดูแลใจคนไข้ซึมเศร้าก่อนเขาทำร้ายตัวเอง
ดูแลใจคนไข้ซึมเศร้าก่อนเขาทำร้ายตัวเอง — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/woman-crying-568021/

นอกเหนือจากการเข้ารับการรักษาตามกระบวนทางการแพทย์แล้ว การดูแลจากคนรอบข้างหรือครอบครัวก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ก่อนที่เขาจะมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

คนรอบข้างจำเป็นเรื่องรู้จักวิธีการในการดูแลผู้ป่วย และการสื่อสารกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง เพื่อไม่กระตุ้นความขุ่นมัวภายในจิตใจ จนระเบิดออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่อาจจะเป็นการทำร้ายตัวเองหรือคนรอบข้างได้

การให้ความสำคัญจากคนรอบข้างจึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองได้ในวันใดวันหนึ่ง และจำเป็นอย่างยิ่งที่คนรอบข้างที่อยู่ด้วยกันทุกวันจะต้องคอยสังเกตอยู่เสมอว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไข้จะทำพฤติกรรมดังกล่าวนั้น

โดยเราสามารถที่จะศึกษาพฤติกรรมบางอย่างที่มักจะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีแนวโน้มของการทำร้ายตัวเอง หากเมื่อใดที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการใกล้เคียงกับรายละเอียดดังต่อไปนี้ จะต้องรีบพิจารณาความเป็นไปได้ในการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองโดยด่วน ได้แก่

1 อ่อนเพลีย เนื่องจากการที่ไม่ค่อยได้พักผ่อนนอนหลับ หรือมีเรื่องเครียดให้ต้องคิดวนไปวนมาอยู่ตลอดเวลา

2 เก็บตัว ผู้ป่วยจะแยกตัวออกจากคนอื่น ไม่สุงสิงกับใคร และมีภาวะซึม คุยกับใครๆน้อยลง ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยทำมาก่อน แม้จะเป็นกิจกรรมที่เคยชอบทำมาก่อนก็ตาม

3 คำพูดเปลี่ยนไป หากผู้ป่วยซึมเศร้าเริ่มมีการบ่นหรือมีคำพูดที่แปลกไปจากที่เคยเป็น ยกตัวอย่างเช่น ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกแล้ว เป็นต้น ต้องรีบเข้าไปดูแลสภาพจิตใจโดยด่วน

4 วางแผนเพื่อหาวิธีการในการที่จะฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดๆก็ตาม

หากมีสัญญาณอันตรายต่างๆเหล่านี้ คนรอบข้างต้องระวังเอาไว้ว่ามันอาจจะเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ผู้ป่วยกำลังจะ ‘ทำร้ายตัวเอง’ จึงจำเป็นที่จะต้องรีบพาผู้ป่วยเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อเยียวยาจิตใจและป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องราวที่ไม่ดีขึ้น

ดูแลใจคนไข้ซึมเศร้าก่อนเขาทำร้ายตัวเอง
ดูแลใจคนไข้ซึมเศร้าก่อนเขาทำร้ายตัวเอง — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/man-love-people-woman-5960470/

การพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจจะเป็นวิธีการที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นได้หากรู้จักวิธีการเลือกใช้คำพูดที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ลักษณะของคำถามที่เราควรใช้กับผู้ป่วยซึมเศร้าควรที่จะเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้อธิบายหรือถ่ายทอดอะไรยาวๆออกมา โดยคนถามต้องทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี และไม่รีบด่วนตัดสินใจ หรือให้คำแนะนำในช่วงที่เขากำลังอธิบายความรู้สึกของเขาอยู่ การที่ผู้ป่วยได้พยายามเล่าเรื่องราวออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ฟังรับฟังอย่างตั้งใจ จะทำให้สามารถที่จะผ่อนคลายความรู้สึกของผู้ป่วยได้

ในทางตรงข้าม ลักษณะของคำพูดที่ไม่ควรอย่างยิ่งที่ใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก็คือ คำพูดที่เป็นการตัดสินว่าสิ่งที่ผู้ป่วยคิดเป็นเรื่องที่ผิด หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าผู้ป่วยนั้นยังอดทนไม่เพียงพอ รวมไปถึงการตอบรับแบบต่างๆโดยไม่ได้ตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง เช่น

‘อย่าคิดมาก’

‘คนอื่นก็เป็นหนักมากกว่านี้ ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย’

‘เดี๋ยวมันก็ผ่านไป’

อีกหนึ่งคำที่ไม่ควรใช้ก็คือคำถามที่ขึ้นด้วยคำว่า ‘ทำไม’ เพราะมันจะเป็นการตั้งข้อสงสัยในความรู้สึกหรือการตัดสินใจของผู้ป่วย ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงไปกว่าเดิมได้

การเลือกใช้คำพูดให้ถูกต้องจะช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และทำให้การตัดสินใจต่างๆในทางที่ไม่ถูกต้องลดน้อยลง ในทางกลับกัน การเลือกใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมจะเป็นการทำให้ความรู้สึกของผู้ป่วยแย่ลง หรือเป็นการดูเหมือนไม่ให้ความสำคัญกับเขา หรืออาจจะทำให้เขาตัดสินใจที่จะทำร้ายตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

คนใกล้ชิดมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยเหลือให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากการเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ การใช้คำพูดเพื่อทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญที่ควรที่จะทำเช่นเดียวกัน และหากคุณสามารถทำได้ดี ก็จะมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการซึมเศร้าได้รวดเร็วกว่าเดิม

Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)