การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, เกี่ยวกับโรค

เลือกเก้าอี้ทำงานให้นั่งสบาย

เลือกเก้าอี้ทำงานให้นั่งสบาย

 

ช่วงเวลาการ work from home ในปัจจุบัน คุณจำเป็นที่จะต้องอยู่บ้านนานมากขึ้น และทำให้ช่วงเวลาในการทำงานยืดยาวออกไป อาจจะไม่ใช่เป็นการทำงานแค่ 8 ชั่วโมงอีกต่อไป แต่อาจจะลากยาวไปที่ 10 หรือ 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการที่คุณจำเป็นจะต้องนั่งทำงานนานๆแบบนี้ ย่อมจะทำให้เกิดเป็นปัญหากับ อวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น การเกิดเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม เนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ลดน้อยลงกว่าที่เคยเป็น

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่คุณอาจจะไม่เคยสนใจ นั่นก็คือ เก้าอี้ที่คุณใช้อยู่ การเลือกเก้าอี้ที่มีคุณภาพไม่ดี อาจจะทำให้ปัญหาออฟฟิศซินโดรมที่คุณเป็นอยู่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะสรีระต่างๆไม่ได้ถูกจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสม และเมื่อสะสมนานวันเข้า ปัญหาก็จะแก้ไขได้อย่างยากลำบาก

ในวันนี้เราจะมาแนะนำให้คนรู้ว่า ‘เก้าอี้’ มีความสำคัญมากแค่ไหน และควรที่จะเลือกเก้าอี้แบบใดเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ลองมาศึกษากันได้เลย

เลือกเก้าอี้ทำงานให้นั่งสบาย
เลือกเก้าอี้ทำงานให้นั่งสบาย — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/woman-wearing-black-coat-sitting-on-chair-using-computer-1181522/

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มักจะเกิดอาการชาหรืออาการปวด ตามไหล่ บ่า กระดูกสันหลัง และคอ นี่คือสัญญาณเริ่มต้นของโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งคุณสามารถที่จะป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนเก้าอี้ทำงาน และปรับพฤติกรรมในการนั่งทำงานให้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

1 กำหนดความสูงของเก้าอี้

มนุษย์ของเรามีความสูงหรือขนาดของร่างกายที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น การปรับเก้าอี้จึงจำเป็นต้องทำให้มีความจำเพาะต่อลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ในแต่ละคน ในส่วนของความสูงของเก้าอี้ต้องมีความสูงเท่ากับความยาวช่วงขาท่อนล่าง ความสูงที่พอดีจะทำให้การวางเท้าราบกับพื้น เขางอเพียงเล็กน้อย และลำตัวตั้งฉากกับส่วนขา

ดังนั้น หากคุณต้องการเลือกซื้อเก้าอี้สักตัวหนึ่ง ต้องเลือกแบบที่สามารถปรับระดับความสูงให้พอดีในแต่ละช่วงคนได้

2 เบาะนั่ง

เบาะของเก้าอี้ต้องไม่นุ่มจนเกินไปหรือลึกเป็นแอ่ง เพราะการนั่งเบาะที่นุ่มจนนั่งไปแล้วเป็นแอ่งจะส่งผลต่อกระดูกเชิงกรานที่อ่านบิดงอได้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่แข็งจนเกินไปจนทำให้รู้สึกไม่สบาย

ที่สำคัญ…คุณต้องเลือกเบาะเก้าอี้ให้พอดีกับขนาดของตัวของคุณ ซึ่งจะทำให้การนั่งรู้สึกไม่อึดอัด ทั้งนี้ เวลานั่งขอบเบาะจะต้องไม่กดบริเวณด้านหลังของเข่า นั่งแล้วก้นหรือหลังต้องชิดผนังพิงเบาะ

วัสดุในการนำมาทำเบาะที่ดีที่สุดควรจะเป็นวัสดุฟองน้ำประเภททเมมโมรี่โฟม เนื่องจากเบาะประเภทนี้จะยุบตัวลงเพื่อรับน้ำหนักของเรา และช่วยป้องกันการกดทับของเส้นเลือดที่เกิดขึ้นจากการนั่งนานๆ หรือทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นแม้ว่าเราจะขยับร่างกายไม่มากก็ตาม

เลือกเก้าอี้ทำงานให้นั่งสบาย
เลือกเก้าอี้ทำงานให้นั่งสบาย — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/home-office-interior-4930018/

3 พนักพิง

การปรับพนักพิงต้องพอดีกับแผ่นหลังของคุณ มีความโค้งนูนและเว้าเข้ากับส่วนของหลังพอดี เพื่อให้เวลานั่งแล้วก้นชิดกับพนักพิง โดยไม่เอนตัวไปด้านหลังมากเกินไป โดยควรมีมุมเอนอยู่ระหว่าง 110 ถึง 130 องศา หากมากไปกว่านี้อาจจะมีผลต่อหมอนรองกระดูกเสื่อมได้

ส่วนความสูงของพนักพิงควรที่จะอยู่ในระดับไหล่หรือต่ำกว่าไหล่เล็กน้อย ไม่โยกหรือเอนไปมาจนทรงตัวยาก และควรหลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิง เพราะจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนหลังหากคุณต้องนั่งนานๆ

4 ที่เท้าแขน

ที่เท้าแขนที่ดีต้องสามารถวางแขนได้พอดี โดยความกว้างของที่เท้าแขนควรจะกว้างอย่างน้อย 2 นิ้ว เพื่อให้สามารถวางแขนได้อย่างสะดวกสบาย หน้าที่ของที่เท้าแขนมีไว้เพื่อใช้ในการดันให้ตัวให้ยืดตรง และช่วยค้ำพยุงในเวลาที่ต้องการลุกจากเก้าอี้ อีกทั้ง ต้องทำหน้าที่รองรับแขนในขณะที่กำลังใช้งานแป้นพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ได้

เก้าอี้ที่ดีควรที่จะปรับที่เท้าแขนได้ตามที่คุณต้องการ และช่วยลดอาการเกร็งของบ่าและไหล่ในช่วงระยะเวลาการทำงาน

5 วัสดุภายนอก

คุณสามารถเลือกเก้าอี้ซึ่งทำมาจากวัสดุได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น แบบหนังแท้ แบบผ้า หรือแบบตาข่าย เป็นต้น ซึ่งหากเป็นแบบหนังก็จะเน้นในเรื่องของความสวยงามและคงทนกว่าแบบอื่น อีกทั้งยังทำความสะอาดได้ง่ายกว่า แต่เวลานั่งอาจจะมีการระบายอากาศที่ไม่ดีเท่ากันกับแบบผ้า ทำให้การเลือกวัสดุต้องขึ้นอยู่กับสถานที่หรือสภาพอากาศที่เก้ดขึ้นในห้องทำงานของคุณด้วย

ตัวช่วยสำคัญอีกหนึ่งตัวที่จะทำให้การนั่งทำงานของคุณดีมากขึ้น ก็คือ การมีหมอนหนุน ซึ่งจะช่วยในการหนุนตามส่วนต่างๆของร่างกายในกรณีที่เก้าอี้ของคุณอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

หมอนจะช่วยเสริมเบาะในกรณีที่เบาะลึกเกินไป เสริมพนักพิงในกรณีที่ไม่พอดีกับสรีระหลัง หรืออาจจะใช้ในการพักเท้าเพื่อช่วยรับน้ำหนักได้

เพียงแค่การเลือกเก้าอี้ที่เหมาะสมกับสรีระร่างกายของคุณ และปรับระดับความสูงหรือองศาในส่วนต่างๆของเก้าอี้ให้เหมาะกับตัวของคุณ ก็เป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยทำให้คุณสามารถที่จะทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยลดอาการที่จะเกิดขึ้นจากออฟฟิศซินโดรมได้ ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ

หากเก้าอี้ที่คุณนั่งในวันนี้ยังไม่ดีเพียงพอ ลองเลือกหาเก้าอี้ตัวใหม่มาแทน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งทำงานให้เหมาะสมมากขึ้น คุณก็จะสามารถได้รับสุขภาพที่ดีจากการนั่งทำงานได้แล้ว