กินเยอะหรือกินน้อยไปก็เป็นโทษ
มนุษย์ต้องการพลังงานจากการรับประทานอาหารในแต่ละวัน ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีความต้องการในปริมาณที่ไม่เท่ากัน บางคนต้องการพลังงานน้อย ไม่ค่อยมีกิจกรรมที่หนักหน่วง ก็มักจะรับประทานอาหารน้อย ในขณะที่บางคนต้องการพลังงานมาก ต้องใช้แรงงานตลอดเวลา ต้องออกกำลังกายอย่างหนัก เป็นนักกีฬา หรือมีอาชีพที่ต้องใช้พลังงานมากๆ ก็ต้องรับประทานอาหารมากขึ้น ซึ่งปริมาณอาหารที่แต่ละคนรับประทานเข้าไปก็จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง
แต่บางครั้งบางที ปริมาณการรับประทานอาหารอาจจะมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการหรือน้อยเกินกว่าที่ต้องการ ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกายได้ เช่น อาจจะเป็นเหตุผลมาจากฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป หรือความรู้สึกที่ต้องการที่จะลดความอ้วน เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อปริมาณการรับประทานอาหารทั้งสิ้น
ในบทความนี้เราจะมาลองพูดถึงสาเหตุของการที่เรารับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลงไปกว่าเดิม ว่ามีเหตุผลมาจากอะไรได้บ้าง และควรจะแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

เริ่มต้นจากการรับประทานมากเกินไปก่อนว่าเป็นเพราะอะไร ?
พฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่มากจนเกินไป อาจจะไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลของนิสัยเพียงอย่างเดียว บางคนอาจจะกินจุเพราะติดเป็นนิสัย แต่สำหรับบางคนอาจจะเป็นเพราะสัญญาณความผิดปกติในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น ฮอร์โมน โรคร้าย หรือการมีประจำเดือน เป็นต้น ดังต่อไปนี้
1 กินเยอะเพราะฮอร์โมนเปลี่ยน
ฮอร์โมนในร่างกายส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อทุกๆอวัยวะหรือระบบการทำงานในร่างกาย การที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมอาจจะทำให้คุณอยากรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็อาจเกิดขึ้นได้มาจากการพักผ่อนน้อยหรือความเครียด เป็นต้น ที่จะกระตุ้นให้ร่างกายรับประทานอาหารมากกว่าปริมาณปกติที่เคยรับประทาน
2 กินเยอะเพราะโรคร้าย
โรคร้ายบางโรคส่งผลให้เรารับประทานอาหารมากขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวานที่จะทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลในเลือดเพื่อเอาไปเป็นพลังงานได้ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกหิวบ่อยมากกว่าเดิม รวมไปถึงการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความอยากอาหารมากกว่าปกติ รวมไปกับอาการอื่นๆ เช่น เหนื่อยง่าย คอบวม เหงื่อออก เป็นต้น ได้เช่นกัน ความผิดปกติในข้อนี้จำเป็นต้องใส่ใจและแก้ไขให้เร็วมากที่สุด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆมากมายตามมาได้
3 กินเยอะเพราะประจำเดือน
สำหรับผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการ PMS ซึ่งเป็นอาการผิดปกติก่อนการมีประจำเดือน หนึ่งในความผิดปกตินั้นจะทำให้เกิดความอยากอาหาร อยากรับประทานอาหารมากกว่าปกติ ซึ่งในบางคนอาจจะมีอาการร่วมไปกับอาการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นท้องอืด อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ทั้งนี้ อาหารทานเยอะเพราะประจำเดือนจะเป็นในช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น และอาการจะหายไปเมื่อพ้นช่วงเวลาดังกล่าว
การแก้ไขพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มากจนเกินไปนี้คงไม่พ้นการพยายามควบคุมตัวเองให้ได้ และกำหนดช่วงเวลาในการรับประทานอาหารให้ตรงกับความต้องการของร่างกายจริงๆเท่านั้น อย่าทานอาหารเมื่ออยาก หรืออย่าพยายามกักตุนอาหารไว้ใกล้ตัว รวมถึงต้องพยายามหากิจกรรมอื่นๆทำทดแทน เพื่อช่วยลดต้นเหตุของปัจจัยเสริมที่จะทำให้เกิดอาการอย่างอาหารมากขึ้น

ในส่วนต่อไปเราก็จะพูดถึงการกินน้อยจนเกินไปว่ามีเหตุผลจากอะไรบ้าง?
การรับประทานอาหารน้อยจนเกินไปเป็นผลต่อสุขภาพที่ไม่น้อยไปกว่าการรับประทานอาหารปริมาณมากเลย โดยปัจจัยที่จะทำให้เกิดอาการกินน้อยโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสัญญาณของกลุ่มโรคการกินผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น
1 อาการกินน้อยจนผอม (anorexia nervosa)
อาการนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีความต้องการที่จะลดน้ำหนักลงไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าตัวเองจะผอมจริงๆหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการโหมออกกำลังกาย หรือใช้ยาในการลดความอ้วน เป็นต้น
2 การกินอาหารแล้วไปล้วงคอ (bulimia nervosa)
อาการนี้พบมากในกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้วก็จะล้วงคอเอาอาหารออกมา เพื่อไม่ให้ร่างกายย่อยอาหารนั้นๆ และได้รับพลังงานมากจนเกินไป จนกลายเป็นปัญหาของน้ำหนักที่ตนเองไม่ต้องการ
สำหรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารน้อยเกินไปก็จำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไขด้วยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่หากมีปัญหาการทานน้อยตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดให้กลับมาสู่แนวทางที่ถูกต้อง และตามมาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้กลับสู่ภาวะปกติตามที่ควรจะเป็น
กลุ่มอาการของโรคดังกล่าวนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับการบำบัดอย่างถูกต้อง อีกทั้งต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดอย่างคนในครอบครัว เพื่อที่จะทำให้อาการต่างๆเหล่านี้หายไปได้เร็วมากที่สุด ยิ่งครอบครัวให้ความใส่ใจและเป็นผู้ร่วมสนับสนุนในการแก้ปัญหามากเท่าไหร่ อาการป่วยก็จะได้รับการบำบัดรวดเร็วมกเท่านั้น
ไม่ว่าพฤติกรรมในการรับประทานอาหารจะมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็ล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายของคุณทั้งสิ้น คุณจึงจำเป็นจะต้องควบคุมให้การรับประทานอาหารกลับเข้ามาอยู่ในจุดที่พอดี หรืออยู่ในจุดที่ร่างกายต้องการและเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้อาหารเป็นแหล่งพลังงานในการสร้างความสุข และสร้างชีวิตที่สมบูรณ์ตลอดไป