Uncategorized

ระวังเด็กเลียนแบบ

ระวังเด็กเลียนแบบ

 

วัยเด็กเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิต เป็นวัยที่ต้องมีการเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น และสิ่งต่างๆที่ได้รับการเรียนรู้มาก็จะถูกนำมาผสมให้กลายเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ดังนั้น สิ่งรอบตัวทุกอย่างของเด็กจึงมีความสำคัญต่อพฤติกรรมที่เด็กจะแสดงออกมา และอาจจะสืบเนื่องไปถึงนิสัยตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่

หากพ่อแม่ผู้ปกครองจัดสรรสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และมอบประสบการณ์ชีวิตที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ก็ย่อมมีส่วนที่จะทำให้เด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ และประสบความสำเร็จได้มากกว่าใครๆ

พฤติกรรมการเลียนแบบเป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติ การเรียนรู้ของเด็กโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการเรียนรู้ที่ทำตามแบบอย่างของใครสักคนหนึ่ง หรือเรียกว่าเป็นพฤติกรรมการเลียนแบบ เพราะโดยปกติแล้วมนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเสมอ สิ่งใดที่ผ่านตา เด็กก็จะซึมซับเอาพฤติกรรมเหล่านั้นมาทำกับตัวเอง โดยไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เด็กที่มีอายุอยู่ในช่วงวัย 2 – 6 ปี จะเป็นช่วงเวลาของเรียนรู้ในด้านการสร้างบุคลิกของตนเอง โดยพวกเขาจะเริ่มต้นจากการเลียนแบบพฤติกรรมของคนที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น คุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เพื่อน หรือคนอื่นๆรอบตัว โดยจะเลียนแบบทั้งเรื่องการแสดงออก วิธีการพูด และการกระทำ

ระวังเด็กเลียนแบบ
ระวังเด็กเลียนแบบ — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/toddler-with-red-adidas-sweat-shirt-783941/

ปัญหาพฤติกรรมการลอกเลียนแบบในเด็ก อาจเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ โดยหากเป็นการลอกเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม สามารถเกิดขึ้นได้หลายกรณี ดังนี้

  • การใช้ภาษาที่ไม่ปกติ ใช้คำสบถ หรือศัพท์แสลง
  • ชอบทำร้ายผู้อื่นโดยการนำสิ่งของเครื่องใช้มาเป็นอาวุธ หรือมีพฤติกรรมรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง เช่น ชกต่อย เป็นต้น
  • การติดอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี เช่น ไอแพท ไอโฟน เกมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  • การแสดงออกทางภาษากายที่ไม่เหมาะสม เช่น ชูนิ้วกลาง ตามแบบภาพยนตร์ต่างชาติ
  • การไม่ชอบอาบน้ำหรือทำความสะอาดร่างกาย

ทั้งนี้ หนึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ก็คือ “พฤติกรรมก้าวร้าว” ที่อาจจะได้รับการเลียนแบบมาจากครอบครัว ที่มักจะมีการทะเลาะกันรุนแรงหรือมีการด่าทอด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หากเด็กซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นไป ก็อาจจะมีผลทำให้อารมณ์ของเด็กรุนแรงได้ หรือหากพ่อแม่ผู้ปกครองปล่อยเด็กเอาไว้กับสื่อที่ไม่เหมาะสมและมีความรุนแรง การที่เด็กเสพสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้เด็กไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี และสิ่งที่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งอาจจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมของการลักขโมย โกหก แกล้งคนอื่น หรือทำอะไรก็ตามในลักษณะที่ไม่ดีจนติดเป็นนิสัยไปจนโต

ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องป้องกันและแก้ไขสิ่งต่างๆเหล่านี้หากเกิดขึ้นกับเด็ก อย่างไรก็ตาม การแก้ไขพฤติกรรมที่เด็กเลียนแบบจนติดเป็นนิสัย เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก การอาศัยวิธีการพูดคุยเพื่ออธิบายถึงความเหมาะสมของพฤติกรรมที่เด็กแสดงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาพอสมควร และหากเด็กมีพฤติกรรมที่รุนแรงจนเกินเยียวยา อาจจำเป็นจะต้องอาศัยจิตแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงลึกต่อไป

การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการลอกเลียนแบบในเด็กเล็กในช่วงระยะวัย 1 – 5 ขวบ อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการการเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตในระยะแรกของชีวิต แต่หากเป็นการแก้ไขพฤติกรรมเลียนแบบในช่วงวัย 6 – 9 ขวบ จะมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากขึ้น

ดังนั้น ในระดับปฐมวัยนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีการเรียนรู้มากกว่าวัยอื่นๆ ทั้งนี้ สิ่งที่จำเป็นต้องเข้าใจเสมอ คือ พ่อแม่หรือผู้ปกครอง ถือเป็น ‘กระจกเงาของลูก’ หากพวกคุณประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ลูกๆก็จะค่อยๆซึมซับและรับเอาแบบอย่างดีๆเข้ามาหล่อหลอมเป็นตัวเอง ในทางตรงข้าม หากพ่อแม่เป็นคนชอบใช้อารมณ์ มักทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัวอยู่เสมอ ภาพนั้นจะสะท้อนไปที่เด็กน้อย ทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงและทำตามจนเป็นนิสัย

ผู้ปกครองจึงต้องพยายามขจัดนิสัยที่ไม่ดีของตนเองออกไปเสียก่อน พยายามควบคุมกาย วาจา และอารมณ์ให้เหมาะสมเมื่ออยู่ต่อหน้าลูก หากไม่อยากให้ลูกที่แหล่งสะสมนิสัยที่ไม่ดีของผู้ปกครอง และกลายเป็นการแพร่กระจายพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไปชั่วลูกชั่วหลาน

ระวังเด็กเลียนแบบ
ระวังเด็กเลียนแบบ — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/close-up-of-teenage-girl-256657/

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ปกครองถือเป็นคนแรกที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด และควรที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กเห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การแสดงคำขอบคุณ การขอโทษ หรือการแสดงออกต่างๆในลักษณะที่สมควรที่จะเป็น และสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งก็คืออย่าปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อเพียงคนเดียว เพราะเด็กอาจจะเลือกเสพสื่อที่มีความรุนแรงและเหมาะสม จนนำไปสู่พฤติกรรมในการเลียนแบบ ยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนไม่มีเวลาที่จะเลี้ยงลูก และปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อออนไลน์ตลอดทั้งวัน อาจจะทำให้เด็กซึมซับในสิ่งที่มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาจนติดเป็นนิสัย และไม่สามารถที่จะแก้ไขได้

สุดท้าย…อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่าไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเติบโตขึ้นมาอย่างไร คนที่มีผลมากที่สุดก็คือ ‘ผู้ปกครอง’ การเอาใจใส่ดูแลแค่เฉพาะเรื่องภายนอกอาจจะไม่เพียงพอกับการบ่มเพาะพฤติกรรมหรือความรู้สึกภายในจิตใจ แตาหากเด็กได้รับการดูแลอย่างครบถ้วนเหมาะสม ก็เชื่อได้ว่าเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เหมือนกับที่คุณเป็นอย่างแน่นอน

Sending
User Review
0 (0 votes)