การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้

ขึ้นรถทีไร ทำไมเมาทุกที

ขึ้นรถทีไร ทำไมเมาทุกที

คุณเคยเป็นหรือเปล่าคะ? เวลาขึ้นรถหรือขึ้นเรือทีไร มักจะเกิดอาการเมาเสียทุกที อาการที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้คุณรู้สึกไม่สบายตัว และแน่นอนว่าจะทำให้การเดินทางในทุกครั้งมีแต่ความทุกข์

อาการเมาแบบนี้จะทำให้คุณไม่ค่อยมีสติ และไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ สำหรับบางคนอาจจะเกิดอาการปวดหัวเป็นอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดอาการบ้านหมุน ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้มักเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น ระหว่างที่คุณกำลังนั่งอยู่บนรถหรือนั่งอยู่บนเรือที่โครงเครง รวมถึงการจ้องภาพบางอย่างที่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาการเมาในลักษณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นโรค และบางคนก็ไม่เคยเกิดอาการที่กล่าวมาเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่สำหรับคนที่เกิดอาการแบบนี้ทุกครั้ง อาจจะเป็นเพราะคุณมีความไวทางประสาทการรับรู้ที่เคลื่อนไหวบางอย่างเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ทำให้เวลาที่คุณต้องโดยสารยานพาหนะบางอย่างที่มีการเคลื่อนไหว ก็จะใช้เวลาเพียงไม่นานจนทำให้เกิดเป็นอาการเมา

แต่แน่นอนว่าอาการที่เกิดขึ้นนี้มันไม่สนุกเลย อาจจะทำให้คุณต้องอาเจียนจนทำให้ร่างกายขาดน้ำ และอาจจะทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ขึ้นรถทีไร ทำไมเมาทุกที
ขึ้นรถทีไร ทำไมเมาทุกที. — ภาพจาก : https://www.lifesavvy.com/5266/how-to-avoid-getting-car-sick/

แล้วทำไมเราถึงต้องเกิดอาการเมาทุกครั้งเมื่อขึ้นรถโดยสาร….เหตุผลก็เป็นเพราะว่าอวัยวะในการรับความรู้สึกในร่างกายของคุณมีการส่งสัญญาณไปที่สมอง จนทำให้เกิดเป็นการทรงตัวที่ไม่สมดุล และอาการก็จะปรากฏขึ้นเมื่อระบบประสาทส่วนกลางได้รับความขัดแย้งกับระบบประสาทสัมผัส และเมื่อใดก็ตามที่ดวงตาของเราไม่สำคัญกับการทรงตัว ก็จะทำให้สมองเกิดความสับสน และเกิดเป็นอาการเมาเมื่อขึ้นยานพาหนะต่างๆนั่นเอง

เมื่อการขึ้นยานพาหนะต่างๆแล้วเกิดอาการเมา คุณอาจจะเกิดอาการเมาในลักษณะเดียวกันในกิจกรรมอื่นๆอีกได้เช่นกัน เช่น การขึ้นเครื่องเล่นในสวนสนุก การเล่นวิดีโอเกม หรือการชมภาพยนตร์ 3 มิติ เป็นต้น

และแน่นอนว่าเมื่อคุณมีอาการเมาขึ้นมาไม่ว่าจะเกิดจากกิจกรรมใดๆ อาการที่คุณเป็นก็จะเป็นอาการที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ อาการเวียนหัว หงุดหงิด ขาดสมาธิ ผิวซีด หายใจเร็วผิดปกติ เหงื่อออก ซึ่งอาการเมาโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง และสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง

แต่สำหรับบางคน…อาจจะมีอาการที่รุนแรงมาก และถ้ามีอาการแย่ลงเรื่อยๆ จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านของหู การทรงตัว และระบบประสาท เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุของการเมาอย่างเจาะลึก และหาวิธีการในการแก้ไขสำหรับคนที่ค่อนข้างอ่อนไหวเรื่องการเกิดอาการเมารถ

ขึ้นรถทีไร ทำไมเมาทุกที
ขึ้นรถทีไร ทำไมเมาทุกที. — ภาพจาก : https://www.scarymommy.com/dealing-with-car-sick-kid/

นอกจากนี้ เราจะขอแนะนำสิ่งที่คุณควรที่จะทำหากจำเป็นจะต้องเดินทาง แต่มักมีอาการเมารถ ก็คือ

1 พยายามลดการเคลื่อนไหวเมื่อมีการนั่งอยู่ในรถโดยสาร และมองตรงไปข้างหน้าตรงเส้นขอบฟ้า เพื่อไม่ให้เกิดอาการเมา โดยอย่ามองไปที่รถที่กำลังแล่นผ่าน รวมทั้งอย่าดูภาพยนตร์ หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างเดินทางโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้อาการเมาทวีความรุนแรงมากขึ้น

2 พยายามสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไป หายใจช้าๆ และพยายามจดจ่ออยู่กับลมหายใจ

3 หากรู้ว่ากำลังจะต้องเดินทางด้วยรถโดยสาร พยายามอย่ารับประทานอาหารมื้อหนัก อาหารรสจัด หรือดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนหรือระหว่างการเดินทาง

4 ในกรณีที่เป็นเด็ก ผู้ปกครองสามารถที่จะเบี่ยงเบนอาการเมาของเด็กๆได้ ด้วยการพยายามให้เด็ก มีบทสนทนาร่วมกันกับผู้ใหญ่ ร้องเพลง หรือฟังเพลงร่วมกัน ก็จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้

5 หากอาการหนักแบบชนิดที่ไม่ไหวจริงๆ ก็ควรที่จะหยุดรถ และลงไปสูดรับอากาศบริสุทธิ์ข้างนอก เดินเล่น ดื่มน้ำ ถ้าร่างกายพร้อมเมื่อไหร่ค่อยกลับมาเดินทางอีกครั้ง

อีกหนึ่งหนทางที่สามารถทำได้และเห็นผลได้ดี ก็คือ การรับประทานยา ที่จะช่วยในการป้องกันอาการเมารถ ซึ่งควรที่จะรับประทานก่อนการเดินทางจะได้ผลดีมากที่สุด ทั้งนี้ ยาแต่ละชนิดมีวิธีการใช้งานและประสิทธิภาพไม่เท่ากัน โดยยาที่ขอแนะนำ มีดังต่อไปนี้

สโคโพลามีน (Scopolamine) เป็นยาที่นิยมใช้แก้อาการเมารถกันมากที่สุด ซึ่งจะต้องทานก่อนที่จะเริ่มมีอาการจึงจะได้ผล ทั้งนี้ มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการง่วงนอน ดวงตาพร่ามัว รูม่านตาขยาย และปากแห้ง

โปรเมทาซีน (Promethazine) เป็นยาที่ควรรับประทานก่อนการเดินทาง 2 ชั่วโมงจึงจะได้ผลดี โดยสามารถป้องกันอาการเมารถได้นาน 6-8 ชั่วโมง ทั้งนี้ มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นรู้สึกสับสน และง่วงนอนได้

ไซคลิซีน (Cyclizine) เป็นยาที่จะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดเมื่อรับประทานก่อนการเดินทางอย่างน้อย 30 นาที ทั้งนี้ ไม่แนะนำสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ และผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ อาการง่วงนอน ปากแห้ง ท้องผูก และมีปัญหาการมองเห็น ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

หวังว่าอาการเมารถที่เกิดขึ้นอยู่เสมอจะทุเลาเบาบางลงได้บ้าง เพราะไม่ว่าจะอย่างไร เราก็คงไม่สามารถปฏิเสธการโดยสารยานพาหนะเหล่านี้ได้ เพียงแต่ต้องรู้วิธีการป้องกัน หรือปฏิบัติตัวเองให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้อาการเมารถเข้ามารบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา…เท่านั้นเอง

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)