สมาธิสั้นใกล้ตัวเด็กกว่าที่คิด
ช่วงวัยเด็กที่เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นชีวิต ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการบ่มเพาะและเลี้ยงดูด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กคนนั้นสามารถที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้ และช่วงเวลาสำคัญนี้เป็นช่วงเวลาแห่งพัฒนาการ ที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมใหดี เพื่อให้การเติบโตของเขาเป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีเด็กบางคนที่มีความผิดปกติในด้านของพัฒนาการ เกิดเป็นโรคบางอย่างที่จะส่งผลทำให้การเรียนรู้ของเขาสะดุดลง ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองทุกคนจำเป็นจะต้องมาสังเกต และไม่ปล่อยปล่อยผ่านเมื่อเกิดความสงสัย

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 พบว่า เด็กไทยทั่วทั้งประเทศจะมีประมาณ 400,000 คนที่พบว่าป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งจะพบว่าเด็กผู้ชายมีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กผู้หญิง 4-6 เท่า หรืออาจจะเปรียบเทียบได้ว่าในห้องเรียนที่มีเด็กเฉลี่ยประมาณ 40-50 คน จะพบเด็กที่มีสมาธิสั้นอยู่ 2-3 คนเลยทีเดียว
ทั้งนี้ อาการสมาธิสั้นไม่ใช่โรคที่จะเป็นและติดตัวไปจนตาย หากคุณรู้เท่าทันก็ยังพอที่จะมีวิธีการรักษาได้อย่างทันเวลา และสามารถที่จะทำให้เด็กคนนั้นสามารถเติบโตได้อย่างมีความสุขและสุขภาพดี
โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือ ภาวะความผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้บุคคลนั้นมีสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมในการเคลื่อนไหว จนทำให้เกิดเป็นอาการซุกซนไม่อยู่นิ่ง ไม่สามารถที่จะตั้งใจฟังหรือเก็บรายละเอียดได้ดี ขาดความรับผิดชอบ ซึ่งอาการต่างๆนี้มักจะพบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุอยู่ในช่วง 3-7 ปี
สำหรับในรายที่มีอาการสมาธิสั้นไม่มาก อาจจะแสดงออกถึงอาการต่างๆนี้ในช่วงหลังจาก 7 ขวบขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ และมีงานหรือการบ้านที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น รวมไปถึงความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมห้องและคุณครู จึงทำให้เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นจำเป็นจะต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน และสามารถอยู่ในสังคมได้
สำหรับสาเหตุของอาการสมาธิสั้นอาจจะไม่สามารถชี้ชัดได้อย่างชัดเจน แต่หนึ่งในนั้น คือ อาการความผิดปกติของสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมเรื่องของสมาธิและการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งมีผลที่ทำงานน้อยกว่าปกติ จนเกิดเป็นอาการของโรคสมาธิสั้นได้
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสมาธิสั้น จะมีอาการที่แสดงออกในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งการจะพิจารณาว่าเด็กคนนั้นมีอาการสมาธิสั้นหรือเปล่าจะมีลิสต์รายการ เพื่อให้ผู้ปกครองได้สังเกตดูว่าเด็กๆมีอาการต่างๆเหล่านี้มากกว่า 6 ข้อหรือไม่ และอาการที่เป็นอยู่ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 6 เดือนใช่หรือไม่ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็จะบ่งบอกได้ว่าเป็นระดับที่แสดงถึงความผิดปกติ และอาจจะไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก

อาการที่จะต้องสังเกตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาการขาดสมาธิและอาการไม่อยู่นิ่ง ซึ่งเด็กอาจจะมีเพียงแค่อาการใดอาการหนึ่ง หรือมีทั้งสองอาการก็ได้
ยกตัวอย่างอาการขาดสมาธิ เช่น ไม่จดจ่อกับงานที่ทำ เหมือนไม่ได้ฟังที่คนอื่นพูด มักทำของจำเป็น ที่ใช้บ่อยๆหาย ทำตามคำสั่งได้ไม่ครบ เป็นต้น
ส่วนอาการไม่อยู่นิ่งยกตัวอย่าง เช่น อยู่ไม่เป็นสุข ชอบขยับมือและเท้าไปมา ไม่สามารถนั่งนิ่งได้ พูดมากหรือพูดไม่หยุด มักจะโพล่งคำถามโดยที่ไม่ฟังคำถามให้จบก่อน ไม่ชอบการรอคอย เป็นต้น
โดยอาการที่กล่าวข้างต้นนี้มักจะพบในช่วงก่อนอายุ 7 ปี และจะพบความบกพร่องที่เกิดจากสถานการณ์อย่างน้อย 2 แห่ง เช่น ที่บ้านหรือที่โรงเรียน อาการที่เกิดขึ้นของเขาอาจจะรุนแรงจนมีผลกระทบในการเข้าสังคม การเรียน หรือการทำงานได้อย่างชัดเจน และอาการจะต้องไม่เข้าข่ายกับการเป็นโรคจิตเวชอื่นๆ
ทางการแพทย์พบว่าเด็กที่มีโรคสมาธิสั้น 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาสามารถที่จะหายได้เองเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่หากอาการหนักกว่านั้น โรคนี้อาจจะไม่หายขาดและเป็นต่อเนื่องไปจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยคนนั้นใช้ชีวิตในสังคมได้ยากมากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับวิธีการในการแก้ไขโรคสมาธิสั้นในปัจจุบัน จะมีวิธีการรักษาอยู่ 4 วิธีได้แก่ 1 ปรับพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการ 2 รับประทานยาที่แพทย์สั่ง 3 การฝึกเรียนตัวต่อตัวและ 4 การปรึกษาแพทย์อย่างต่อเนื่อง
หากเด็กคนนั้นได้รับการเข้ารับการรักษาอย่างครบถ้วน ก็เชื่อได้ว่าอาการสมาธิสั้นจะได้รับการแก้ไข และทำให้ความผิดปกตินั้นๆลดลงหรือจางหายไป เพื่อที่จะให้เขาสามารถที่จะมีพัฒนาการที่ใกล้เคียงกับเด็กทั่วไป และสามารถที่จะเข้าสังคมได้
การสังเกตพฤติกรรมของลูกน้อยหรือเด็กในปกครองเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันโรคสมาธิสั้นได้ หากผู้ปกครองคนไหนเริ่มสงสัยว่าเด็กอาจจะมีภาวะของโรคสมาธิสั้น ควรที่จะรีบพาเด็กไปพบกับผู้ชำนาญการทันที เพราะโรคนี้จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการรักษา และต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งตัวของเด็ก ผู้ปกครอง และครูผู้สอน เพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปตามความมุ่งหวัง
และที่สำคัญหากเด็กคนนั้นๆสามารถที่จะรักษาให้หายจากโรคสมาธิสั้นได้ นอกจากสมาธิที่ดีขึ้นแล้ว ผลการเรียนก็จะดียิ่งขึ้นด้วย ที่สำคัญ…เด็กจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพดีในอนาคตได้