การดูแลสุขภาพ, การออกกำลังกาย, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้

ดูแลอย่างไรเมื่อโดนสุนัขกัด

ดูแลอย่างไรเมื่อโดนสุนัขกัด

 

สุนัขเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่คนส่วนใหญ่นิยมที่จะเลี้ยงเอาไว้ที่บ้าน เป็นเพื่อนแก้เหงา เป็นยามคอยป้องกันบ้าน หรือเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจของตนเอง ไม่ว่าคุณจะเลี้ยงสุนัขเพื่ออะไรก็ตาม ผู้เลี้ยงล้วนแต่มีความสุขกับการที่ได้เล่น ได้ดูแล และได้ครอบครองเจ้าตูบเพื่อนรัก จนอาจจะลืมไปว่าสุนัขอาจจะมีโอกาสทำร้ายเราหรือผู้อื่นได้เหมือนกัน

เนื่องจากสุนัขบางตัวอาจจะมีความดุร้าย และสามารถทำร้ายผู้เลี้ยงหรือคนอื่นๆให้ได้รับความบาดเจ็บจากการถูกกัดได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆที่คนเลี้ยงสุนัขจำเป็นที่จะต้องรู้จักวิธีการในการปฐมพยาบาลเมื่อโดนสุนัขกัด เพื่อที่จะได้ดูแลและรักษาบาดแผลได้อย่างถูกวิธี และป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้

ดูแลอย่างไรเมื่อโดนสุนัขกัด
ดูแลอย่างไรเมื่อโดนสุนัขกัด. — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/close-up-shot-of-an-american-bulldog-biting-a-tree-log-6738222/

ว่ากันว่า…วัยเด็กถือเป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงในการถูกสุนัขกัดได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องมาจากเด็กๆจะมีกลไกในการป้องกันตัวเองที่น้อยกว่า จึงทำให้ง่ายต่อการถูกทำร้าย ผู้ใหญ่จึงจำเป็นที่จะต้องคอยระมัดระวังไม่ให้สุนัขทำร้ายเด็ก เพราะหากถูกกัดอาจจะเสี่ยงจากการติดเชื้อในบาดแผลอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้อวัยวะส่วนนั้นพิการได้

แต่ที่ร้ายที่สุดและคงไม่มีใครอยากให้เกิด ก็คือ การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจจะทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่หากได้รับเชื้อตัวนี้ก็เสี่ยงอันตรายได้ไม่ต่างกัน

สำหรับวิธีการในการดูแลรักษาแผลที่ถูกสุนัขกัด หากแผลที่ถูกกัดไม่รุนแรงมากนัก จะต้องมีวิธีการในการดูแล ดังต่อไปนี้

1 ตรวจดูบาดแผลและรอยกัด

หลังจากที่โดนสุนัขกัด จะต้องตรวจดูก่อนว่าแผลที่ถูกกัดนั้นรุนแรงมากแค่ไหน? แผลฉีกขาดออกจากกันหรือไม่? หรือเป็นเพียงแค่เขี้ยวสุนัขถากแบบผิวเผิน หากเป็นแผลเล็กๆน้อยๆคุณสามารถที่จะรักษาบาดแผลได้เอง แต่หากเป็นแผลที่เกิดจากการที่สุนัขใช้เขี้ยวฝังลงไปในเนื้อ และเกิดการฉีกขาดของข้อต่อหรือกระดูก ก็จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการดูแลตามความเหมาะสม

2 การล้างแผล

สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อไป ก็คือ เมื่อถูกสุนัขกัดแล้วจะต้องนำแผลไปล้างด้วยน้ำสะอาดผสมกับสบู่ น้ำสบู่จะช่วยทำความสะอาดและขจัดเชื้อโรคที่อยู่รอบๆบาดแผล รวมไปถึงกำจัดเศษฝุ่นที่อาจจะติดมาจากปากสุนัขได้ หากการล้างแผลทำได้ดีก็ย่อมส่งผลให้แผลนั้นหายได้เร็วมากขึ้น

3 ห้ามเลือดให้สนิท

หลังจากที่คุณล้างแผลเสร็จแล้ว ถ้ายังมีเลือดไหลออกมาให้ห้ามเลือดให้หยุดสนิทเสียก่อน โดยการห้ามเลือดสามารถใช้ผ้าขนหนูสะอาดหรือผ้าก๊อซกดที่บาดแผลไว้ เพื่อให้เลือดหยุดไหลหรือไหลได้ช้าลง แต่ถ้ากดไปนาน 15 นาทีแล้วเลือดยังคงไม่หยุดไหล แสดงว่าแผลมีขนาดที่ใหญ่ หรือคุณอาจจะมีความผิดปกติของอะไรบางอย่าง ดังนั้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที

ดูแลอย่างไรเมื่อโดนสุนัขกัด
ดูแลอย่างไรเมื่อโดนสุนัขกัด. — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/dog-biting-rope-of-person-holding-rope-2813385/

4 ทายาหรือครีมฆ่าเชื้อ

หลังจากที่แผลที่โดนกัดผ่านการทำความสะอาดอย่างดี และเลือดหยุดสนิทแล้ว จะต้องมีการป้องกันการติดเชื้อของแผลสดด้วยการใช้ครีมฆ่าเชื้อเพื่อลดการอักเสบ จากนั้นจึงใช้ผ้าพันแผลพันแผลให้แน่นพอประมาณ โดยต้องระวังไม่ให้การพันแผลแน่นจนเกินไป เพราะอาจจะมีผลต่อการไหลเวียนของเลือด ที่สำคัญควรที่จะเปลี่ยนผ้าพันแผลทุกๆครั้งเมื่อเห็นว่าเริ่มจะสกปรกแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อได้

5 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยักสามารถเกิดขึ้นได้จากการถูกสุนัขกัด ซึ่งบาดทะยักอาจติดมาจากเชื้อโรคที่อยู่ในฝุ่นหรือดิน ดังนั้น หลังจากที่ถูกสุนัขกัด จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก โดยอาจจะต้องเช็คก่อนว่าวัคซีนที่คุณเคยฉีดป้องกันบาดทะยักนานมากกว่า 5 ปีหรือไม่ หากนานเกินกว่า 5 ปี จำเป็นที่ต้องมีการฉีดกระตุ้นอีกครั้ง แต่หากยังไม่ถึง 5 ปี ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ

6 หมั่นเช็คบาดแผล

หลังจากที่คุณมีการทำความสะอาดแผลอย่างดีแล้ว คุณจำเป็นจะต้องหมั่นตรวจเช็กว่าแผลของคุณนั้นมีการติดเชื้อหรือไม่ หากมีสัญญาณใดๆที่อาจจะบ่งบอกว่ามีโอกาสติดเชื้อ เช่น มีไข้ มีอาการเจ็บปวด มีน้ำหนองไหลออกมา บวมแดง เป็นต้น อาการต่างๆนี้บอกให้คุณรู้ว่าต้อง้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจจะเป็นการติดเชื้อได้

นอกจากนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบว่าสุนัขที่กัดเรานั้นได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่? เพราะคุณอาจจะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้แม้ว่าการกัดของสุนัขจะไม่รุนแรงมากก็ตาม ดังนั้น หากทราบว่าสุนัขได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาแล้ว ก็จะค่อนข้างมั่นใจได้ว่าคุณจะปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า

ที่สำคัญ…จะต้องคอยสังเกตอาการของสุนัขประมาณ 15 วัน เพื่อตรวจดูว่ามีสัญญาของโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ยิ่งหากเป็นสุนัขจรจัดจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

ไม่ใช่เพียงแค่สุนัขเพียงอย่าง่เดียวเท่านั้นที่ต้องระวัง แต่แผลจากสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น แมว เป็นต้น ก็เป็นอีกหนึ่งชนิดสัตว์เลี้ยงที่อาจจะทำให้คนติดโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ต้องให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงทุกๆตัวไม่น้อยไปกว่ากัน

Sending
User Review
0 (0 votes)