วิธีดูแลป่วยความจำเสื่อม
สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความจำเสื่อม ย่อมทำให้การใช้ชีวิตของคุณไม่เป็นปกติอีกต่อไป คุณอาจจะหลงๆลืมๆ มีอารมณ์รุนแรง และอาจจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้เป็นอาการป่วยที่ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง และจำเป็นที่จะต้องมีคนที่คอยดูแลใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้คุณได้รับอันตรายจนถึงแก่ชีวิต
มีหลายๆครอบครัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับโรคความจำเสื่อมนี้ เนื่องมาจากปู่ย่าตายายที่มีอายุมากขึ้น ทั้งนี้ โรคความจำเสื่อมถือเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามความสุขของคนมาเนิ่นนาน ซึ่งการรักษาโรคนี้ต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น หากมีการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ แต่คงจะยากที่จะแก้ไขให้ดีดังเดิม ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว…การแก้ไขปัญหาโรคความจำเสื่อมเป็นการพยายามมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นอยู่

ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมสามารถที่จะแบ่งแยกได้หลายระยะ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ระดับการสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ระดับการเห็นภาพหลอน อารมณ์รุนแรง และระดับที่ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ สูญเสียความสามารถในการสื่อสาร และต้องการการดูแลตลอดเวลา
ความแตกต่างของระยะความจำเสื่อมนี้ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจำเป็นจะต้องมีการวางแผนเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม เพื่อให้พวกเขามีความชีวิตที่ดีขึ้น โดยในวันนี้เราจะมาแนะนำถึงวิธีการในการดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมว่าสามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง
1 ทำความเข้าใจ
สิ่งที่สำคัญมากกว่าสิ่งใดก็คือ ความเข้าใจถึงพฤติกรรมและอาการของผู้ป่วย ว่าพวกเขานั้นป่วยอยู่ในระดับใด และอาการป่วยดังกล่าวนี้จะสามารถแสดงพฤติกรรมใดออกมาได้บ้าง
หากผู้ดูแลรับรู้ถึงอาการและพฤติกรรมได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยทำให้สามารถวางแผนการในการรับมือหรือดูแลได้อย่างยอดเยี่ยม รวมถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหากมีการแสดงอาการที่ไม่เหมาะสมได้ด้วย
2 ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน
การดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับสภาวะแวดล้อมต่างๆให้เหมาะสม และให้ง่ายต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา โดยที่ไม่ต้องให้ผู้ป่วยเสียเวลาในการนึกหรือจดจำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะของที่จำเป็นที่จะต้องใช้ทุกวัน หรือของใช้ส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น การจัดเก็บกระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ หรือกุญแจบ้านเอาไว้ในจุดที่มองเห็นง่ายและอยู่ในจุดเดียวกัน
รวมไปถึงการปรับแสงสว่างในบ้านให้มีกำลังวัตต์ที่สูงมากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็นสิ่งต่างๆภายในบ้าน และลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการสะดุดล้มได้

3 ออกกำลังกาย
การดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมควรที่จะให้ความสำคัญกับการพาพวกเขาออกไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากร่างกายได้รับการพัฒนาศักยภาพอยู่เสมอ ก็จะมีผลต่อเนื่องไปถึงสมองที่จะได้รับการพัฒนาในทุกๆวันด้วย
มากไปกว่านั้น ผู้ป่วยที่มีอาการทางด้านอารมณ์ที่รุนแรงสามารถบรรเทาได้ด้วยการออกกำลังกาย เพราะการที่คุณได้พาพวกเขาเอาไปออกกำลังกายและยืดเส้นยืดสายเป็นประจำ จะสามารถช่วยปรับอารมณ์ของพวกเขาให้อ่อนโยนลงได้
4 การใช้ยา
ยาเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยชะลอความรุนแรงของโรคนี้ และเพื่อให้ความจำเสื่อมช้าลง โดยผู้ป่วยจะต้องมีการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และการทานยาของผู้ป่วยจะมีความแตกต่างกันออกไปตามระดับของอาการที่เป็น
ดังนั้น ผู้ดูแลจำเป็นต้องสังเกต และดูแลเรื่องการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ…การรับประทานยาอาจจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง ผู้ดูแลจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในตัวยาแต่ละชนิด เพื่อผลที่ดีที่สุดในการรักษา
5 การบำบัด
การบำบัดผู้ป่วยความจำเสื่อมจะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้พัฒนาสมอง ซึ่งสามารถบำบัดอาการสมองเสื่อมได้ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือ การวาดรูป การต่อจิ๊กซอว์ การเล่นดนตรี เป็นต้น
กิจกรรมต่างๆเหล่านี้จะช่วยพัฒนาสมอง และช่วยปรับอารมณ์ของผู้ป่วยไม่ให้ฟุ้งซ่านจนเกินไป ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อผู้ป่วย
การดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมถือเป็นงานหนักที่ต้องใช้ทั้งความเอาใจใส่ เวลา และต้องใช้เงินทองไม่น้อย เพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านั้นได้รับการพัฒนาที่ดีมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการพยายามป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้นมา ซึ่งเราสามารถที่จะหยุดยั้งความเสื่อมของสมองได้ด้วยวิธีธรรมชาติ นั่นก็คือ การพยายามทำจิตใจให้แจ่มใส การพยายามฝึกสมาธิ มีสติตลอดเวลา รวมไปถึงการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะโรคประจำตัวบางอย่างก็อาจจะมีผลทำให้เกิดเป็นอาการความจำเสื่อมได้
และไม่ใช่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะต้องคอยดูแลตัวเอง เรายังคงต้องดูแลคนใกล้ชิดโดยเฉพาะผู้สูงอายุในบ้าน ว่าพวกเขาเริ่มมีอาการหลงหลงลืมลืมๆบ้างแล้วหรือยัง หรือมีพฤติกรรมที่แปลกไปจากที่เคยเป็นหรือไม่ เพราะสัญญาณเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญญาสำคัญของอาการความจำเสื่อมได้ทั้งสิ้น และหากคุณรู้ก่อนก็จะช่วยทำให้การรักษาง่ายมากขึ้น และมีโอกาสที่สมองจะได้รับการพัฒนาได้ดีกว่า
การดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่คงจะไม่ยากจนเกินไปหากคุณใส่ใจ และเข้าใจถึงพฤติกรรมของโรคนี้อย่างชัดเจน ถึงแม้จะไม่สามารถแก้ไขให้อาการความจำเสื่อมหายไป แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมานกับโรคนี้มากจนเกินไป