การดูแลสุขภาพ, การออกกำลังกาย, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้

LONG COVID เชื้อหายแต่อาการยังอยู่

LONG COVID เชื้อหายแต่อาการยังอยู่

 

ต้องยอมรับว่า covid-19 ถึงเป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีความอันตรายร้ายแรงมากที่สุดโรคหนึ่ง สามารถติดต่อกันจากมนุษย์สู่มนุษย์ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2019 จนมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการพัฒนาทั้งวัคซีนและยาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาของโรคนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะกำจัดต้นตอที่ทำให้โรค covid-19 นั้นหยุดแพร่พันธุ์ได้เลย

การวิจัยในเชิงการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการแพร่กระจายของเชื้อโรค อาการของโรค การป้องกันการติดเชื้อ รวมไปถึงการรักษา ซึ่งถูกค้นพบขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคร้ายโรคนี้ แต่หลังจากที่ผู้ป่วยบางรายหายจากโรค covid-19 ก็ยังคงมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาการเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆของร่างกาย รวมไปถึงระบบสมองและระบบประสาท ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป

LONG COVID เชื้อหายแต่อาการยังอยู่
LONG COVID เชื้อหายแต่อาการยังอยู่. — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/woman-wearing-face-mask-3902732/

หากคุณติดเชื้อไวรัสตัวนี้ อาการของโรคโควิต 19 จะมีความคล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโรคอื่นๆ ดังนั้น อาการที่แสดงออกมาจะเป็นอาการของไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว และยังมีอาการที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ อย่างการไม่ได้รับรส เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อนี้สามารถที่จะเกิดอาการบางอย่างหลังจากที่หายจากโรคนี้ได้ ซึ่งเราสามารถเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า “Long Covid (ภาวะหลังการติดเชื้อโควิด)” ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่ากลุ่มอาการ Long Covid คืออะไร และมีผลต่อร่างกายอย่างไร

กลุ่มอาการ Long Covid อาจจะมีชื่อที่เรียกแตกต่างกันออกไปอีกหลากหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น COVID Long Hauler, Post – acute COVID syndrome เป็นต้น

และเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคใหม่และแพร่กระจายไปทั่วโลก ดังนั้น จึงมีการศึกษางานวิจัยของแต่ละประเทศ ซึ่งรายงานภาวะนี้แตกต่างกันหลากหลายข้อมูล โดยหลักฐานทางสถิติของผู้ป่วย covid-19 พบว่า หลังจากมีการติดเชื้อ 60 วัน ผู้ป่วยประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ จะยังคงมีอาการผิดปกติบางอย่างอยู่ แม้ว่าจะไม่ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสในตัวผู้ป่วยแล้วก็ตาม

อาการ Long Covid เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโควิดตั้งแต่ 4 สัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งกลุ่มอาการจะแสดงผลออกมาต่อระบบหลายๆส่วนในร่างกาย ซึ่งล้วนแต่สามารถสร้างความไม่สบายกายและไม่สบายใจให้แก่ผู้ป่วยเหล่านั้นได้ทั้งสิ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อร่างกายมีดังต่อไปนี้

1 ผลต่อระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย รู้สึกหายใจไม่สะดวก หรือรู้สึกหายใจได้ไม่อิ่มไม่เต็มที่เหมือนก่อนที่จะติดเชื้อ

2 ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น และหัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติ

3 ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีความอยากอาหารน้อยลง มีอาการปวดท้องหรือท้องเสีย

4 อาการอื่นๆที่ไม่เจาะจงต่อระบบใดๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ อ่อนเพลีย หรือไม่มีแรง

5 ความผิดปกติจากการตรวจเลือด ผู้ป่วยมักจะพบค่าเอนไซม์ในตับสูงขึ้น ค่ากรองและทำงานของไตลดลง ค่าทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานลดลง และค่าระบบการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ

6 ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท มีผลสำคัญที่ทำให้คุณรู้สึกปวดศีรษะ นอนไม่หลับ สับสน เกิดความเครียด วิตกกังวล

LONG COVID เชื้อหายแต่อาการยังอยู่
LONG COVID เชื้อหายแต่อาการยังอยู่. — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/woman-holding-sign-3951615/

สำหรับสาเหตุที่อาจจะทำให้เกิดเป็น Long covid ได้ ยังไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัด แต่จากหลักฐานที่พบในปัจจุบัน คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1 เชื้อไวรัสไปทำลายสมดุลต่างๆในระบบร่างกาย ทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติ

2 การติดเชื้อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันและสารอักเสบที่มากขึ้น ซึ่งมันจะไปทำลายการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

3 ผลกระทบหลังจากเกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง การที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดที่รุนแรงจะไปทำลายระบบไหลเวียนขนาดเล็ก รวมไปถึงทำให้เกิดมีความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่และสารน้ำในร่างกาย จึงทำให้ระบบต่างๆในร่างกายมีการทำงานที่ผิดปกติหลังจากพ้นการเจ็บป่วยดังกล่าวไปแล้ว

ทั้งนี้ มักจะพบว่าผู้ป่วยที่เกิดอาการ Long Covid มักจะเป็นผู้หญิงที่มีโรคประจำตัวชนิดหอบหืด และมีช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 35-49 ปี กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคใหม่จึงมีข้อมูลของผู้ป่วยไม่มากนัก และยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยฐานข้อมูลเพิ่มเติม และมีการศึกษาต่อไปในอนาคต จึงสามารถที่จะสรุปถึงปัจจัยเสี่ยงของภาวะดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

ในส่วนของการรักษาอาการ Long Covid ยังไม่มีวิธีการรักษาแบบจำเพาะเจาะจง และยังคงต้อง ศึกษาแนวทางในการที่จะดูแลผู้ป่วยภาวะนี้ต่อไป ณ ปัจจุบันจะเป็นการรักษาตามอาการที่เป็นอยู่ และพยายามที่จะป้องกันตัวเองให้ดีมากที่สุด

Covid-19 ยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง แต่เชื่อว่าในอนาคตโรคนี้จะกลายเป็นเพียงโรคหนึ่งที่มีวิธีการในการรักษาและป้องกันได้ดีเหมือนกับโรคอื่นๆที่เคยมีมาในอดีต แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ทุกๆคนคงต้องช่วยกันดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ฉีดวัคซีน สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ พ่นแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อที่จะป้องกันการติดเชื้อ และทำให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ลดลงให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Sending
User Review
0 (0 votes)