ต้องยอมรับว่าการเกิดมาแล้วมีอวัยวะครบ 32 ประการ พร้อมๆไปกับการมีสติปัญญาที่ครบถ้วนนับเป็นโชคดีมากๆในระดับหนึ่งแล้ว เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เกิดมาพร้อมกับพัฒนาการทางสมองที่ผิดปกติ หรือขาดทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เราเรียกอาการแบบนี้ว่า “Autism”

ภาวะที่ว่านี้ สามารถแสดงออกได้ตั้งแต่มีอายุเพียง 18-36 เดือน โดยเด็กเหล่านี้จะไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เนื่องมาจากความผิดปกติของสารบางอย่างในสมอง ซึ่งอาการอาจแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติได้หลายรูปแบบ ทั้งในด้านการสื่อสาร ทักษะทางภาษา ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดปกติ
ธรรมชาติของเด็กทั่วๆไปเมื่อมีสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้น ก็จะต้องมีการตอบสนองโดยการหันไปตามเสียง แสง หรือมีการแสดงความรู้สึกที่อยู่ในใจออกมา แต่สำหรับเด็กที่มีอาการ Autism นี้ จะมีพฤติกรรมที่ตรงข้ามกัน กล่าวคือ มักจะไม่สบตากับคนที่พูดด้วย ชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบการกอดหรือการแสดงออกทางความรัก ไม่แสดงความรู้สึกใดๆออกมาเมื่อมีอารมณ์โกรธ ดีใจ หรือเสียใจ เด็กกลุ่มนี้จะไม่ค่อยยิ้ม เพราะตัวของเขาเองไม่รับรู้ถึงความหมายของการยิ้มหรือการแสดงออกทางภาษากาย จากปัญหาต่างๆดังกล่าว จึงมีผลให้เด็กเหล่านี้ไม่สามารถจะเรียนรู้ถึงความคิด อารมณ์ พฤติกรรมการแสดงออกของผู้อื่น หรือความต้องการของคนอื่นได้เลย บางครั้งอาจแสดงความก้าวร้าวออกมาโดยการทำลายข้าวของ ทำร้ายคนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งการทำร้ายตนเอง นอกจากนี้ มักจะไม่สามารถควบคุมตัวเอง หรือไม่สามารถปรับตัวในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้
ด้านพัฒนาการการพูด ก็พบว่าเด็กที่มีอาการ Autism มักจะมีการพูดที่ผิดปกติไปจากคนทั่วๆไป บางคนอาจจะหยุดพูดไปเองเลย ซึ่งมีทั้งการหยุดพูดแบบชั่วคราวและแบบถาวร หรือเด็กบางคนอาจเริ่มหัดพูดช้ากว่าปกติ เมื่ออายุ 5-8 ปี เด็กบางคนอาจจะเพียงพูดได้เป็นคำๆ ไม่สามารถผสมคำได้อย่างมีความหมาย หรือไม่สามารถใช้คำพูดในการอธิบายได้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเด็กบางรายที่เอาแต่พูดคำเดิมซ้ำๆ ซึ่งโดยมากมักจะพบได้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี ในด้านของการแสดงสีหน้าระหว่างการพูดคุย ก็พบได้ถึงความแตกต่างเช่นกัน เด็ก autism จะไม่สามารถแสดงสีหน้าหรือท่าทางเพื่อแสดงความรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือโกรธ น้ำเสียงระหว่างการพูดคุยจึงมักจะราบเรียบ ไม่มีเสียงสูงหรือเสียงต่ำ และเนื่องจากเด็กไม่สามารถใช้ภาษาเพื่อสื่อความต้องการของตนเองได้ เด็กกลุ่มนี้จึงมักจะใช้วิธีการร้องหรือแย่งของแทนที่จะขอด้วยคำพูดเหมือนกับเด็กปกติทั่วไป

ไม่ใช่แค่เพียงพฤติกรรมการพูดซ้ำๆเท่านั้นที่พบได้ในเด็ก autism แต่ยังพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมซ้ำๆในรูปแบบอื่นๆด้วย เช่น เด็กอาจจะนั่งเคาะโต๊ะหรือโบกมืออยู่เป็นชั่วโมง หรืออาจจะนั่งโยกหน้าโยกหลังเป็นเวลานาน นอกจากนี้ เด็กมักจะคุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมแบบเดิมๆ หากสภาพแวดล้อมที่เขาเคยคุ้นเคยเปลี่ยนแปลงไป เด็กจะแสดงอารมณ์โกรธออกมาในทันที
ส่วนปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ก็พบถึงความผิดปกติได้เช่นเดียวกัน เด็ก autism อาจจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดเมื่อต้องสัมผัสหรือได้รับรู้กับบางสิ่งบางอย่าง เช่น เด็กบางคนอาจจะกรีดร้องขึ้นมาเองเมื่อได้ยินเสียงเครื่องบิน เสียงโทรศัพท์ หรือเสียงอื่นๆ แต่ในบางครั้งกลับไม่แสดงอาการใดๆออกมาเลย แม้จะหกล้ม หรือบาดเจ็บสาหัสแค่ไหนก็ตาม
เมื่อคุณเริ่มรับรู้แล้วว่า ลูกน้อยของคุณกำลังตกอยู่ในภาวะของการเป็นโรค Autism ก็อาจจะต้องทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของเด็กในกลุ่มนี้ให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมๆไปกับการพัฒนาให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นๆได้อย่างปกติ โดยอาจจะต้องทำให้เด็กเพิ่มทักษะในการเข้าสังคมกับคนรอบข้างเพื่อทดแทนพฤติกรรมที่เบี่ยงเบียนไปจากพฤติกรรมปกติให้ได้ รวมถึงพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตามความต้องการของเด็ก โดยอาจเริ่มจากการเรียนการสอนขั้นตอนง่ายๆ ทีละขั้นๆ รวมถึงต้องจูงใจให้เด็กเกิดความสนใจและมีส่วนร่วมในการปรับพฤติกรรมร่วมกัน ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งครูอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้ให้การรักษา เพื่อทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองหรือการใช้ชีวิตในแนวทางที่ดีขึ้น
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะต้องอาศัยหลักการที่ว่า เมื่อเด็กทำถูกต้องหรือทำดีต้องมีรางวัลให้ หรือเมื่อเด็กสามารถพัฒนาทักษะใหม่ตามแผนที่วางไว้ได้จะต้องให้รางวัลแก่เด็ก โดยรางวัลที่ให้อาจจะเป็นในรูปแบบของคำชื่นชม ให้ขนม หรือของที่เด็กชอบ ซึ่งการให้รางวัลแก่เด็กเช่นนี้จะทำให้เด็กสามารถทำสิ่งนั้นๆซ้ำๆจนเกิดความชำนาญได้ อย่างไรก็ตาม ควรที่จะต้องพัฒนาทักษะตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจะให้ผลดีได้มากกว่าการสอนตอนที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจจะมีการใช้ยาเพื่อรักษาอาการข้างเคียงต่างๆแก่เด็กกลุ่มนี้ด้วย เช่น ยาแก้ซึมเศร้า ยาแก้สมาธิสั้น เป็นต้น
การให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่ และการให้ความเข้าใจ จะเป็นสื่อที่ช่วยให้เด็กที่มีอาการ autism นี้มีพัฒนาการทางสมองที่ดีขึ้นได้ แม้อาจจะไม่สามารถเทียบเท่าได้กับคนปกติทั่วไป แต่แค่ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืน ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แล้ว