ความเครียดสะสมจากการทำงาน การสวาปามอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและเกลือ หรือแม้แต่ความขี้เกียจในการออกกำลังกาย ล้วนเป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้เกิดอาการของโรคหัวใจทั้งสิ้น ภัยมืดนี้ร้ายแรงมากแค่ไหนและเราจะมีทางออกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ตามมาดูกันได้เลย

หัวใจคนเราแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องถูกกั้นขวางด้วยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ ในทุกๆ วัน ทุกๆเวลา หัวใจไม่อาจจะหยุดทำงานได้เลย เพราะเมื่อใดก็ตามที่หัวใจหยุดเต้น ก็จะไม่มีเครื่องมือที่คอยสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นลมหายใจของคนเราก็จะสิ้นสุดลงทันที หัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้งต่อวัน เพื่อรองรับการสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 2,000 แกลลอน ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักมากที่สุดในร่างกาย ถ้าวันใดวันหนึ่ง…หัวใจของเราเกิดอาการผิดปกติขึ้นมา ร่างกายของเราก็คงจะไม่ปลอดภัยเหมือนเดิมเป็นแน่
โรคหัวใจ ถือเป็นโรคที่มีผลต่อการคุกคามสุขภาพของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน รวมถึงอาหารการกินที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว ย่อมทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคชนิดนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกวันๆ
โรคหัวใจสามารถพบได้บ่อยในคนทั่วไปที่คิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี หากใครที่ลองสังเกตอาการของตนเองแล้วพบว่าเข้าข่ายอาการต่อไปนี้ ก็ให้รู้ตัวไว้เลยว่าคุณกำลังจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากขึ้นแล้วละ

สัญญาณเริ่มแรกที่บ่งบอกให้รู้ได้ว่าหัวใจเริ่มจะทำงานผิดปกติ ก็คือ ความรู้สึกเหนื่อยง่ายเวลาออกกําลังกาย เพราะหัวใจทําหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อใดที่หัวใจเริ่มเกิดการชำรุด ก็จะส่งผลให้การสูบฉีดโลหิตไม่เป็นไปตามปกติดังเดิม ดังนั้น แม้เราจะออกแรงเพียงนิดเดียว ก็อาจส่งผลให้เริ่มรู้สึกเหนื่อยได้ง่ายกว่าคนอื่นๆแล้ว นอกจากนี้ ก็อาจจะมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก รู้สึกเหมือนหายใจอึดอัด เหมือนมีของหนักๆมากดทับหรือรัดไว้ที่หน้าอก โดยมากอาการเช่นนี้จะแสดงออกเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนักระหว่างการออกกำลังกายหรือใช้แรงมากๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังใกล้จะเผชิญหน้ากับอาการป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจเข้ามาทุกทีแล้วละ
สัญญาณต่อๆมาของการเป็นโรคหัวใจ ก็คือ อาการใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งโดยปกติแล้ว หัวใจของเราจะเต้นด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอประมาณ 60 -100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการหัวใจเต้นเร็วไปถึง150 – 250 ครั้ง/นาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอนี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือหายใจไม่ทัน นอกจากนี้ อาจมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อยทั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ หรือแม้แต่การนอนราบก็ยังรู้สึกเหนื่อยและอึดอัดตรงหน้าอก บางรายอาจมีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก ซึ่งหากปล่อยให้เกิดภาวะอาการอย่างนี้ต่อๆไป อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตเลยก็เป็นได้
หากรุนแรงไปกว่านั้นอาจพบอาการเป็นลมหมดสติ ที่บ่งบอกให้รู้ว่าจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ เพราะเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ให้จังหวะไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพลง จึงทำให้หัวใจเต้นช้าลงจนส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ อาการเช่นนี้พบได้มากในผู้สูงอายุ ซึ่งหากล้มลงไปแล้วศีรษะฟาดพื้นก็จะยิ่งส่งผลกระทบกระเทือนต่อสมองได้มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนสุดท้าย อาจเป็นภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจโดยตรง อาการนี้มักเกิดกับคนปกติที่ไม่เคยมีอาการของโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งหากมีอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหันแล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ทันเวลาหรือถูกวิธี ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
แต่ถ้ายังไม่อยากต้องมานอนป่วยด้วยโรคหัวใจแบบนี้ เรามีข้อแนะนำในการดูแลหัวใจของคุณให้แข็งแรงด้วยวิธีง่ายๆมาฝากกันค่ะ ซึ่งเชื่อว่าหากได้นำไปปฏิบัติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอแล้ว จะทำให้หัวใจของคุณแข็งแรงขึ้นได้แบบไม่ต้องเสริมใยเหล็กกันเลยทีเดียว
เพียงแค่คุณหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอก็เป็นวิธีง่ายๆที่ช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้นแล้ว นอกจากนี้ ควรจะต้องดูแลสุขภาพใจให้ผ่องใส ไม่เครียด รู้จักควบคุมอารมณ์และความโกรธให้พอดี รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยงดอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งก่อให้เกิดอาการความดันโลหิตสูงและเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบได้ง่าย แล้วหันไปเน้นการรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้นแทน สุดท้ายคือการหมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ และควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและรักษาโรคร้ายที่อาจคาดไม่ถึงได้อย่างทันท่วงที
การเฝ้าระวังและป้องกันตัวเองจากโรคร้ายชนิดนี้สามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไรนัก เพียงแต่ต้องมีวินัยและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดโรค เพียงเท่านี้ หัวใจของคุณก็จะแข็งแรงและมีแรงเต้นต่อไปได้อย่างยาวนานแล้วละค่ะ
… ยามใดที่ร่างกายอ่อนล้า เราหยุดพักให้หายเหนื่อยได้… แต่ยามใดที่หัวใจอ่อนแรง มันก็ยังคงเดินต่อไป ทำงานต่อไป… เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่า “หัวใจ” คนเราไม่เคยหยุดพัก อย่าลืมดูแลรักษามันไว้ให้ดีๆ นะคะ เพือจะได้ไม่เป็น โรคหัวใจ ค่ะ
การป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
ถ้ามองย้อนกลับไปที่ต้นตอของปัญหาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและเกิดภาวะ อุดตันขึ้น ก็จะขอเรียกว่าเป็น ปัจจัยเสี่ยง หรือ Risk factors ซึ่งตามตำราทางการแพทย์ได้พิสูจน์ทราบอย่างชัดเจนไว้ดังนี้คือ
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- ภาวะคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง และไขมันดี HDL ต่ำ
- การสูบบุหรี่
- โรคเบาหวาน
- เพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี หรือหญิงที่อายุเกินกว่า 55 ปี หรือวัยหมดประจำเดือน
และประวัติโรคหัวใจในครอบครัวจะเห็นได้ว่าปัจจัยเสี่ยงบางประการพอจะป้องกันได้ บางข้อก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้แน่นอน อ่านรายละเอียดได้ที่นีค่ะ
การป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
ถ้ามองย้อนกลับไปที่ต้นตอของปัญหาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและเกิดภาวะ อุดตันขึ้น ก็จะขอเรียกว่าเป็น ปัจจัยเสี่ยง หรือ Risk factors ซึ่งตามตำราทางการแพทย์ได้พิสูจน์ทราบอย่างชัดเจนไว้ดังนี้คือ
1. ภาวะความดันโลหิตสูง
2. ภาวะคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง และไขมันดี HDL ต่ำ
3. การสูบบุหรี่
4. โรคเบาหวาน
5. เพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี หรือหญิงที่อายุเกินกว่า 55 ปี หรือวัยหมดประจำเดือน
6. ประวัติโรคหัวใจในครอบครัว
จะเห็นได้ว่าปัจจัยเสี่ยงบางประการพอจะป้องกันได้ พอจะบรรเทาเบาบางได้ เช่น 3-4 ข้อแรก แต่สองข้อหลังคงแก้ไขอะไรไม่ได้แน่นอน ต่อไปก็จะได้ขยายความเป็นลำดับ
เริ่มกันที่ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) ความดันโลหิตหรือแรงดันเลือด (Blood pressure) ก็คือ แรงดันในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นซึ่งประกอบไปด้วย ช่วงหัวใจบีบตัว (systolic) และหัวใจคลายตัว (Diastolic) เวลาแพทย์หรือพยาบาลวัดความดัน แล้วบอกคนไข้ว่าวัดความดันได้ 120/80 มม.ปรอท ก็คือ ความดัน Systolic (บีบตัว) = 120 มม.ปรอท และความดัน Diastolic (คลายตัว) = 80 มม.ปรอท นั่นเอง ความดันที่ว่านี้มีความสำคัญที่จะคอยดันสารน้ำและเม็ดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ต่ำมากไปก็ไม่มีกำลัง หรือเป็นลมได้ ถ้าสูงมากเกินไปก็อาจเกิดหลอดเลือด โดยเฉพาะที่สมอง แตก หรือตีบได้
สำหรับที่เส้นเลือดหัวใจก็เกิดเรื่องได้เช่นกัน ความดันโลหิตสูงที่เป็นนานๆ ก็จะไปทำลายเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ดังทีได้กล่าวถึงตอนต้น ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ และแข็งตัว ในที่สุดก็เกิดการตีบตัน
ถ้าหากมีก้อนไขมันที่ผนังหลอดเลือด ความดันโลหิตที่สูงมาก ก็อาจทำให้เกิดการแตกของก้อนไขมันอย่างเฉียบพลัน และเกิดการก่อตัวของลิ่มเลือด จนเป็นเหตุให้หลอดเลือดอุดตันตามมาดังที่กล่าวข้างต้น
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนอื่นคือ ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่อาจไม่แสดงอาการอะไรเลยก็ได้ เรียกว่า ถ้าไม่ตรวจก็ไม่ทราบ การตรวจที่ว่าก็เพียงใช้เครื่องวัดความดันโลหิต ถ้าวัดซ้ำ ๆ กันสองสามครั้งแล้วสูงเกิน 140/90 มม.ปรอท ก็ต้องเริ่มระมัดระวังตัว ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงประเภทที่ความดันโลหิตสูงจนเส้นโลหิตสมองแตก หรือหัวใจโตมากแล้ว ประเภทนี้ต้องรักษากันเต็มที่อยู่แล้ว แต่ประเภทที่สูงไม่มาก หรือไม่อยากกินทานหาหมอเป็นพัก ๆ ตามอารมณ์ นี่สิน่าวิตก ประเภทนี้มีมาก
ความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นประมาณ 95% เป็นประเภทที่ ไม่ทราบสาเหตุ (Essential hypertension) จนปัจจุบันนี้ก็ยังบอกได้ไม่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุกันแน่ เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ กรรมพันธุ์ สารอาหาร เกลือแร่ต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเกิดจากอะไร ถ้าจะปฏิบัติตัวหรือรักษาก็จะมีการรักษาอยู่สองประเภท เรียกว่า การรักษาด้วยยา (Pharmacologic treatment) ซึ่งคงต้องฟังจากแพทย์ผู้ดูแลเป็นหลัก และอีกประเภทคือ การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา (non pharmacologic treatment) ฟังดูแล้วน่าสนใจทีเดียว เพราะเวลาก็ไม่ต้องเสีย(นั่งรอหมอตรวจ) เงินก็ไม่ต้องใช้ (อาจใช้บ้าง) จะมีอะไรกันบ้างคงต้องอาศัยตามคำแนะนำของสมาคมแพทย์โรคหัวใจของอเมริกา (American heart association) เป็นหลัก ซึ่งแนะนำไว้ดังนี้
ข้อ 1 ลดอาหารเค็ม คิดเป็นปริมาณเกลือในอาหารให้น้อยกว่า 6 กรัม ประมาณช้อนชากว่าเล็กน้อย ต้องรวมอาหารที่มีเกลือ หรือความเค็มแฝงอยู่อื่น ๆ ด้วย เช่น อาหารทะเล ผลไม้ดอง อาหารสำเร็จต่าง ๆ ถ้าจะเอาให้สั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ ไม่ควรเติมเกลือ เติมน้ำปลา ในอาหารที่รับประทาน
ข้อ 2 ออกกำลังพอประมาณ ที่ว่านี้ไม่ใช่ต้องไปวิ่งมินิมาราธอน หรือเล่นกีฬาอย่างหนักเป็นชั่วโมงแล้วเลิกไปเป็นอาทิตย์ ๆ ที่จำง่าย ๆ คือ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ครั้งละประมาณ 30-40 นาที อาทิตย์หนึ่งประมาณ 3-4 วัน
ข้อ 3 เลี่ยงรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวและคลอเลสเตอรอลสูง ควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง มีแร่ธาตุสารอาหารที่จำเป็นโดยเฉพาะโปแตสเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งก็มักจะได้จากอาหารประเภทธัญญพืช ผลไม้ ข้าวกล้อง ถั่ว งา เป็นต้น
ข้อ 4 พักผ่อนทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ลดความเครียดในทางที่ถูกต้อง เช่น ทำสมาธิ การรู้จักสร้างอารมณ์ขัน การปล่อยละวางอย่างเหมาะสม
ข้อ 5 ลดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ให้พอประมาณ ที่ว่าก็คือ คนที่ไม่เคยดื่มก็ไม่ต้องไปหัดดื่ม แต่คนที่เคยดื่มมากควรต้องลดปริมาณลง โดยมีหลักดังนี้
วิสกี้ ไม่เกิน ¼ แก้ว/วัน เบียร์ไม่เกิน 1 ขวด/วัน ไวน์ไม่ควรเกิน 1 กระป๋อง (250 ซีซี/วัน)
ข้อ 6 ลดน้ำหนักในกรณีที่น้ำหนักเกิน
ข้อ 7 ข้อสุดท้ายคือ หยุดสูบบุหรี่ ศัตรูตัวฉกาจของหัวใจนั่นเอง
ทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมา ก็ดูแล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับคนที่มีความตั้งใจจริง แต่ที่สำคัญมีข้อแม้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเป็นกิจวัตร เพราะผลดีที่จะเกิดต้องอาศัยเวลา