บทความน่ารู้, สุขภาพน่ารู้

ปวดต้นคอ..แก้ไขอย่างไรดี

 ‘คอ’ ถือเป็นอวัยวะอันแสนบอบบาง แต่เต็มไปด้วยภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ เนื่องมาจากอวัยวะส่วนนี้จัดเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างสมองและอวัยวะต่างๆ เส้นประสาทที่ส่งผ่านไปยังสมองหลายหลากเส้นจำเป็นจะต้องเชื่อมผ่านที่ลำคอก่อน ดังนั้น หากมีอันต้องมีอาการบาดเจ็บที่ต้นคอ ก็อาจจะพาลให้เกิดอาการบาดเจ็บไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายได้ด้วย

ปวดต้นคอ..แก้ไขอย่างไรดี
ภาพจาก : http://gravitywerks.com/category/shoulder-and-neck-pain-2/ ปวดต้นคอ..แก้ไขอย่างไรดี


    ลำคอของคนเราประกอบไปด้วยกระดูกเล็กๆ 7 ชิ้น เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาว ระหว่างกระดูกคอที่เชื่อมต่อกันนี้จะมีหมอนรองกระดูกเล็กๆคั่นกลางอยู่ หน้าที่ของมันคือการคอยรองรับกระดูกชิ้นต่างๆบริเวณลำคอ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อมัดที่มีการขยายและหดตัวอยู่ตลอดเวลาเมื่อเราหันซ้าย หันขวา พยักหน้า หรือเอี้ยวตัวไปตามทิศทางต่างๆ ทำให้คอสามารถเคลื่อนที่ไปตามที่เราต้องการได้

แต่เมื่อการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันมีผลต่อการทำงานของกระดูกบริเวณคอที่ไม่เหมือนเดิม ก็ย่อมส่งผลให้คนเราเกิดอาการปวดต้นคอได้มากยิ่งขึ้น อาการดังกล่าวนี้จัดเป็นหนึ่งในโรคจากการทำงานที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน สาเหตุสำคัญมาจากการใช้งานต้นคอที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต้องนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ การที่เราไม่ค่อยได้ขยับร่างกายไปไหน ทำได้เพียงแต่ก้มหน้าขึ้นๆลงๆเช่นนี้ ย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดอาการกล้ามเนื้อที่คออักเสบ และเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดคอมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

 นอกเหนือจากการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่นานเกินไปแล้ว การเคลื่อนไหวคออย่างรวดเร็วหรือรุนแรงจนเกินไป ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเคล็ดขัดยอกที่บริเวณคอได้เช่นกัน ซึ่งหากกล้ามเนื้อที่บริเวณนี้ถูกดึงหรือยืดมากจนเกินไป ก็อาจมีผลให้เกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ จนนำไปสู่อาการปวดอย่างรุนแรงได้

ปวดต้นคอ..แก้ไขอย่างไรดี
ภาพจาก : http://www.chiropractorinmarketharborough.co.uk/chiropractic-advice-on-how-to-avoid-pain-from-laptop-use.html ปวดต้นคอ..แก้ไขอย่างไรดี

 

การใช้ชีวิตยามค่ำคืนแบบผิดสุขลักษณะโดยการนอนหมอนสูงเกินไป ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนเราสามารถเกิดอาการปวดคอได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุมาจากภาวะข้อเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น โดยคนส่วนใหญ่มักจะเริ่มมีอาการข้อเสื่อมเมื่อมีอายุเกิน 30 ปี อาการที่พบเกิดได้เนื่องจากโปรตีนที่อยู่ในเจลด้านในของหมอนรองกระดูกเริ่มสูญเสียความยืดหยุ่น และส่งผลต่อการลดคุณสมบัติในการรับแรงกระแทกลง เมื่อเวลาคนเราขยับคอจึงส่งผลทำให้วงแหวนที่อยู่รอบๆค่อยๆเปื่อยยุ่ยหรือฉีกขาดได้ นอกจากนี้ อาจเกิดอาการที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนที่ไปข้างหลัง และเบียดชนกับอวัยวะที่สำคัญอย่างไขสันหลังที่เชื่อมต่อกับสมอง ส่งผลต่อการควบคุมการทำงานของระบบต่างๆภายในร่างกาย อีกทั้ง ยังมีผลส่งต่อไปถึงการไปกดทับถูกปลายประสาท ทำให้เกิดอาการปวดร่วมกับอาการชา หากไม่รีบรักษาอาจร้ายแรงถึงขึ้นเป็นอัมพาตได้

 อย่างไรก็ตาม อาการปวดคอไม่ใช่อาการหนักที่รักษายังไงก็ไม่หาย เพียงแต่คนไข้จะต้องพยายามปรับตัวและรักษาตัวเองอย่างมีวินัย จึงจะส่งผลให้หายจากอาการที่เป็นอยู่ได้ในเร็ววัน อาการปวดคอนี้สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ หากคนไข้รับรู้และรีบแก้ไขแต่เนิ่นๆ แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานโดยคิดว่า “เดี๋ยวก็คงหายเอง” จะยิ่งส่งผลให้อาการที่เป็นหนักมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

 สำหรับวิธีการรักษาก็ต้องพิจารณาไปเป็นกรณีๆไป ยกตัวอย่างเช่น หากอาการปวดคอที่คุณเป็นอยู่นั้น เกิดจากสาเหตุการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเนื่องจากการเคลื่อนไหวผิดท่า เช่น การตกหมอน เป็นต้น ก็ให้เริ่มต้นจากการพยายามไม่เคลื่อนไหวลำคอซักช่วงเวลาหนึ่งก่อน หากมีอาการปวดก็ให้รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ และใช้วิธีการประคบด้วยความเย็นตามด้วยความร้อนเพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณลำคอ แต่สำหรับผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอาการปวดคอมาเป็นเวลานานแต่ไม่ได้มีอาการรุนแรงมากนัก อาจแก้ไขได้โดยการฝึกออกกำลังเพื่อบริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง หรือใช้วิธีนวดกดจุดเพื่อระงับอาการปวด หากมีอาการปวดมากก็ให้รับประทานยาแก้ปวดเพื่อระงับอาการ

การบริหารกล้ามเนื้อคอด้วยการออกกำลังกายง่ายๆที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทุกคนควรที่จะต้องเรียนรู้เอาไว้ การบริหารกล้ามเนื้อคอแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรกจะเป็นการบริหารเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่เอ็นและกล้ามเนื้อรอบคอ โดยการเอียงคอเบาๆไปรอบทิศทาง ทั้งซ้าย ขวา ก้มหน้า และเงยหน้า หลังจากนั้นจะบริหารโดยเน้นการสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อคอ โดยอาศัยแรงต้านจากฝ่ามือ การบริหารกล้ามเนื้อต้นคออย่างสม่ำเสมอนี้ จะทำให้อาการปวดคอเรื้อรังของคุณลดลง แถมยังทำให้ห่างไกลจากโรคร้ายต่างๆได้อีกด้วย

    แต่สำหรับในผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถใช้วิธีการบริหารกล้ามเนื้อคอหรือการกดจุดในการบรรเทาหรือรักษาอาการปวดได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการวินิจฉัยและศึกษาดูอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีผลกระทบร้ายแรงหากทำอย่างไม่ถูกวิธี ตัวอย่างผู้ป่วยในกลุ่มนี้ เช่น
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอร่วมกับอาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขนหรือขา ผู้ป่วยที่มีอาการอาการปวดคอร่วมกับอาการเบื่ออาหาร ผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอร่วมกับมีไข้สูง หรือผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บต้นคอเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น

การทราบถึงอาการและสาเหตุของอาการปวดคอ จะช่วยทำให้เราสามารถหาทางแก้ไขได้อย่างถูกต้อง และไม่ต้องมานั่งทนปวดคออีกต่อไป

Sending
User Review
0 (0 votes)